Stmeen's Blog


[Q.4]Professional Interview
October 7, 2009, 4:58 pm
Filed under: Uncategorized

ข้าพเจ้าได้เจอกับ”พี่กร”ที่สถาบันศิลปะ Art for Ent
หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เลือกที่จะลองเรียนพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ข้าพเจ้าและญาติผู้พี่จึงได้ตัดสินใจมาติวที่สถาบันแห่งนี้
และทำให้ข้าพเจ้าได้พบกับ พี่กร “หรือ คุณ กร ทองทั่ว”
วิธีสอนที่เข้าใจง่าย รวมถึง ความใจดี และเท่ของพี่ติวในตอนนั้น ทำหใ้ข้าพเจ้ารุ้สึกว่าคนเรียนคณะนี้เท่จริงๆ
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้ทราบว่า พี่กรจบมาจาก สถาปัตย์ ลาดกระบัง และนั่นเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าคุ้นเคยและปลาบปลื้มกับสถาบันแห่งนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน

ข้าพเจ้าได้ทำการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เนื่องจาก พี่กรไม่มีเวลาว่างมากนัก และงานยุ่งเต็มไปหมด แต่ยังสละเวลามาให้สัมภาษณ์แก่ข้าพเจ้าเกือบชั่วโมง
ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถนำรูปถ่ายของข้าพเจ้าที่กำลังสัมภาษณ์ได้

ข้าพเจ้าจะขอแสดง บันทึกการสัมภาษณ์ไว้ ณ ที่นี้

สัมภาษณ์ วันที่ 8 ตุลาคม 2552 เวลา 14.39 น.
ผู้สัมภาษณ์ น.ส. ชนันพร โกยสมบูรณ์ 48020059 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.
ผู้ให้สัมภาษณ์ พี่กร ณ บ. Brown Houses

———————————————————————-
ชื่อ-สกุล :
กร ทองทั่ว

ชื่อบริษัท และตำแหน่ง :
บริษัท BrownHouses ตำแหน่ง Design Director Architect

มีอาชีพอื่นๆด้วยรึเปล่าคะ :
เป็นอ.พิเศษสอนอินทีเรียที่ ศิลปากร
และเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ เด็กไทยสร้างสรรค์ เดิมคือ Art For Ent’ (เปิดมาประมาณ13 ปีแล้ว)

ประวัติการศึกษา :

จบปริญญาตรีจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
Lighting Design จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[Q.] อยากจะให้ช่วยเปรียบเทียบข้อดี ด้อยของสถาบันอื่นกับ ลาดกระบัง :
แต่ละที่สอนคนละแบบ มีจุดเด่นไม่เหมือนกันเลย ดีกันคนละแบบนะ

[Q.] เกี่ยวกับการศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นรุ่นที่เท่าไหร่ รหัสอะไรคะ :
จำไม่ค่อยได้แล้ว พี่เรียนจบมาปี 37-38 นี่แหละ รหัส 32

[Q.] ทำไมถึงเรียนคณะนี้ และตอนเรียนรู้สึกยังไงคะ :
ตั้งใจจะเป็นอยู่แล้ว เพราะมีความชอบศิลปะ ทำงานศิลปะ แต่ก็ต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง เป็นเรื่องธุรกิจด้วย
ตอนที่พี่เรียนก็ทำงาน รับจ๊อบไปด้วย เลยมีประสบการณ์ตั้งแต่ ปีสาม แต่เพราะรับงานมาเยอะ ก็เลยต้องทำ ทีสิส 2 ครั้ง แต่ตอนจบไป ในขณะที่เพื่อนๆในรุ่นได้เงินเดือนสมัยนั้นประมาณ หมื่นต้นๆ แต่ของพี่ เริ่มที่ 18,000 บาทเพราะมีประสบการณ์และงานให้ได้เห็น ส่วนตอนเรียนพี่ก็แฮปปี้ มีความสุขกับงานดีนะ มีเหนื่อยบ้าง เบื่อบ้างเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องสนใจ ไม่มีอะไรที่มันแฮปปี้ตลอดทุกวันหรอก

[Q.] ตอนเรียนจบได้ตั้งความหวังอะไรบ้างรึเปล่าคะ :
พี่ไม่ได้มุ่งแค่การออกแบบเก่งอย่างเดียว ถามตัวเองว่า สถาปนิกคืออะไร ถ้ารู้เรื่องวัสดุ เสป็คได้ รู้เรื่องการจัดการบริหารได้ พรีเซ็นท์ได้ ทำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ครบวงจร ไม่ใช่แค่ออกแบบเก่งอย่างเดียว แต่ระบุอะไรไม่ได้เลย
แต่ที่ตั้งใจอยากจะทำก็คือ โรงเรียนสอนศิลปะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยากเป็นครูกรแบบเดิมอยู่

[Q.] พบจบไปได้ทำงานกับเด็กเก่าจากลาดกระบังมั่งรึเล่าคะ :
ก็ได้ทำงานร่วมกันบ้าง จริงๆแล้วพบจบมาก็ช่วยงานอาจารย์ก่อน แต่เพราะทำงานตอนปี 3 ทำกับ Palm Architect A49 แต่ตอนนั้นยังไม่มี IA 49 มีแค่แผนกอินทีเรีย พี่ก็ไปทำงานเป็นสถาปนิกของที่นั่น ที่รู้จักเพราะมีพี่ชายทำงานอยู่ แต่สุดท้าย พี่กลับไม่ชอบที่จะนั่งทำงานที่นั่น เพราะสถาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน สังคมต่างกัน เรื่องพูดคุยไม่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าที่นั่นไม่ดี หรือลาดกระบังไม่ดี แต่เหมือนกับว่า มันต่างกันมากกว่า สุดท้ายก็เลยออกมา แต่ก็ยังส่งงานไปให้อยู่ เพียงแค่ไม่ได้ไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่น ส่วนเพื่อนๆ รุ่นพี่่ คนอื่นๆบางคนก็ไปเป็นอาจารย์ที่สถาปัตรังสิต ไปเป็นผู้ช่วยคณบิดี เป็นลูกจ้างตามบริษัทบ้าง แต่เงินเดือนก็ 7 80,000 จนเป็นแสนก็มี แต่ของพี่กรเองเป็นเจ้าของเอง ก็เลยไม่ต้องไปโคกับใครมากนัก

[Q.] แล้วได้กลับมาทำกิจกรรม หรืองานอะไรที่คณะบ้างมั๊ยคะ:
แรกๆจบมาก็กลับๆไปบ้าง งานศิษย์เก่าเอย อะไรเอย แต่หลังๆก็ไม่ว่าง ไม่ได้กลับไปเลย

[Q.] คิดว่าการเรียนปัจจุบันและในสมัยของพี่มีอะไรแตกต่างกันบ้างมั๊ยคะ :
เสก็ตช์ในกระดาษไม่เป็น…..จับแต่คอม (เหมือนจะโดนเอง)พอให้ขึ้นงานอะไรก็ เปิด ออโตแคด ไอเดียเขียนออกมาไม่เป็น เปิดคอม ทำในคอม ส่งในคอมอย่างเดียว(พี่กรตอบด้วยน้ำเสียงละเหี่ยใจ) จะเขียนให้เนี้ยบ ให้สวย แต่ไม่มีไอเดีย บางอันก็ผิดตั้งแต่เริ่มแล้ว ไม่รู้จะเขียนต่อทำไม จริงๆแล้ว 3D จ้างเอาก็ได้ พวกพรีเซ็นเทชัน ก็หาคนรับทำเอา แต่ไปเป็นสถาปนิกน่าจะดีกว่า แต่พี่ก็รับได้นะ ในการใช้คอมพิวเตอร์ มันคนละยุคกันแล้ว

[Q.] แล้วตอนนี้คิดยังไงกับสถาปัตยกรรมในประเทศไทยคะ :
ก็ดีนะครับ งานดีไซน์เยอะขึ้น ดีขึ้น มากขึ้น ดี เห็นแล้วสบายใจ งานออกแบบเต็มไปหมด อาจจะเป็นเพราะสมัยนี้ สื่อเข้าหาง่าย อย่าง TCDC หนังสือ แมกกาซีนดีๆเต็มไปหมด สมัยพี่ มีแต่หนังสือห้องสมุด ถ้าไปเปิดเล่มเชยๆ เราก็เชยไปด้วย ถ้าหนังสือไม่เข้า เราก็ไม่ได้รับอะไรใหม่ๆ เพราะแต่ก่อนพี่ทำงานด้วยหนังสือ

[Q.] ผลงานที่ได้รางวัล หรือภาคภูมิใจ :

พี่ไม่ประกวดแบบ แต่สำหรับงาน พี่ภูมิใจในทุกงานครับ พี่ขอบคุณลูกค้าที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ทุกงานเหมือนโจทย์คอยฝึกเรา ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ พี่จะไม่ยัดเยียดความชอบของตัวเองให้ลูกค้า สถาปนิกใหม่ๆมักมีข้อเสียตรง ชอบงานนั้น งานนี้อยู่ลึกๆ แล้วจะเอามาใส่ให้ลูกค้า ยื่นแคนทีรีฟยาวๆ บางๆออกมา แล้วบอกลูกค้าว่าสวย แต่ลูกค้าเค้าไม่เห็นว่าสวยด้วย เป็นความใฝ่ฝันของสถาปนิก ไม่ใช่ลูกค้า เค้าไม่ได้อยากได้ เค้าต้องอยู่ตลอดชีวิต แต่เรากลับเอางานที่เราเห็นว่าสวยด้วยความชอบส่วนตัว มาภูมิใจ แล้วเอาไปอวดต่างๆนานา พี่ว่าตรงจุดนี้ที่สถาปนิกต้องระวัง หรือบางที ก็อย่าคิดว่าเราเก่งแล้ว ได้งานออกแบบบ้าน ร้อยล้านมา เจ้าของบ้านอายุก็ สี่ซาห้าสิบ ไปต่างประเทศมาเยอะกว่าที่เราเคยไป เห็นอะไรมากกว่าเรา เก่งกว่าเราอยู่แล้ว ส่วนเราถ้าบ้านแค่ ห้าหกล้านยังไม่เคยอยู่ จะไปรู้ได้ยังไงว่าบ้านร้อยล้านเค้าจะอยู่แบบไหน เราต้องศึกษา เรียนรู้ให้มากๆ

[Q.] บริษัทของพี่ชำนาญในด้านไหน หรือเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษคะ :
ออกแบบบ้าน หรือบางทีก็งานใหญ่ๆ อย่างบ้าน 250 ล้าน ที่จอดรถ 30 คัน สระว่ายน้ำ 25 เมตรอะไรแบบนี้ก็มี

[Q.] แล้วส่วนมากเป็นในกรุงเทพหรือต่างจังหวัดคะ :
ส่วนมากพี่จะเรับเฉพาะงานในกรุงเทพ เพราะพอไปต่างจังหวัด จะคุมไม่ค่อยถึง

[Q.] พี่กรถนัด ชำนาญการทำงาน/ถนัด ด้านไหนคะ :

ด้านการออกแบบ แล้วก็บริหารจัดการ ส่วนงานคุมไซท์ ก็ให้ลูกน้องทำหรือส่งวิศวกรไปคุมมากกว่า

[Q.] อยากทราบวุฒิตอนนี้ค่ะ :
ภาคีสถาปนิก แต่ไม่ได้เซ็นนะ ให้ลูกน้องเซ็นมากกว่า ผลักดันแล้วก็ให้ความสำคัญกับลูกน้องด้วย

[Q.] สิ่งที่ใช้ดูเวลารับคนเข้าทำงาน :
Portfolio เป็นหลัก ส่วนเรื่องสถาบัน หรือเกรดพี่เห็นว่าเป็นเรื่องรองนะ เรียนดีแต่ไม่มีกึ๋นก็มี ค่าของคนอยู่ที่งานมากกว่า รอบรู้ เพื่อนเยอะดีกว่า อย่างบางคนเกีรตินิยมไป แต่ ถึก เชย เฉิ่ม เรียนหนังสือเก่งโคตรๆ(ขออนุญาตใช้คำตามที่สัมภาษณ์ เพื่ออรรถรสในการอ่าน) จำเก่ง เลคเชอร์ดี ก็น่าจะไปทำงานพวกตรวจสอบอาคาร กฎหมายเป๊ะๆ อะไรแบบนั้นมากกว่า ถ้าจะมาทำพวกออกแบบก็ไม่เหมาะแล้ว จะทำงานก็ต้องเลือกด้านที่เหมาะกับตัวเองด้วย

[Q.] พบกับปัญหาในการทำงานอะไรบ้างคะ :
เรื่องที่เจอเรื่องแรกเลยก็คือเรื่องเงิน เพราะตอนแรกๆที่ทำงาน connection ยังน้อย สายป่านสั้น เรียกค่าแบบได้น้อย เพราะความที่ประสบการณ์น้อย ไม่น่าเชื่อถือ อย่างลูกค้าถามอะไรมาซักร้ยอข้อ ตอบได้แค่สองข้อ แล้วใครจะกล้าให้ออกแบบบ้านให้ อย่างสมมุติ ถ้าออกแบบบ้าน สองล้าน แปดล้าน ถ้าจบมาใหม่ๆ หน้าเด็กๆเนี่ย เรียกแค่ 50,000 ยังไม่ค่อยกล้า รวมทั้งเรื่องการพูดการจา เรื่อง อีโก้นี่ ต้องเก็บไว้ที่บ้านเลย

[Q.] เศรษฐกิจที่ขึ้นๆลงๆในปัจจุบัน มีผลอะไรกับบริษัท หรืองานบ้างมั๊ยคะ :

ลูกค้าที่บริษัทของพี่เป็นลูกค้า ไฮเอ็น หลังใหญ่ ไม่มีปัญหาการใช้จ่ายเงิน ไม่ต้องกู้เงินสร้างบ้าน ส่วนมากเป็นลูกค้าเงินสด บ้านร้อยล้านก็จ่ายเลย เศรษฐกิจดีขึ้นหรือแย่ลง ปัจจัยสี่ก็ยังต้องใช้ เคยกินข้าวยังไงก็กินอย่างนั้น แค่อาจจะมีผลให้ตัดสินใจช้าลงนิดหน่อย

[Q.] ค่าครองชีพ ค่าแบบที่ได้ในปัจจุบันของสถาปนิก พี่คิดว่ามีความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมยังไงบ้างคะ :
พี่ใช้เรทจากสมาคมในการอ้างอิงค่าแบบ แต่ไม่ได้ใช้เรทตามนั้น งานพี่ให้มากกว่าเลขเรทที่กำหนดไว้ ตัวเลขก็ต้องมากขึ้นตามงาน ถ้าทำแบบของสมาคมก็จะทำงานแค่นั้น ลูกค้าบางคนก็เลยโดนสถาปนิกหลอก บ้างก็โดนโกง เพราะบางที ถ้าคิดเรทแบบสมาคม ทำงานมากๆอย่างที่ตั้งใจ ก็เหนื่อยเพราะค่าเรทของสมาคมค่อนข้างต่ำ อย่างที่ทำงาน ก็ต้องจ้างลูกน้อง ห้องทำงานก็ต้องมีเก้าอี้นั่งดีๆ โต๊ะสวยๆ บรรยากาศคิดงานดีๆ คอมจอแบน จอใหญ่ๆ ไม่แบนคิดงานไม่ออก(ฮา) ทั้งหมดนี้ก็เป็นต้นทุนให้ได้งานดีๆ พวกดีไซเนอร์ก็ใส่ใจอะไรเล็กๆน้อยๆแบบนี้อยู่แล้วด้วย เรทของสมาคมพี่ว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ส่วนเรื่องชาร์จเพิ่มก็ไปตามเหตุผลมากกว่า

[Q.] สถาปนิกในดวงใจคือใครคะ :
พี่ก็ชอบสถาปนิกเยอะแยะ ทั้งคนไทย คนต่างประเทศ อย่างมิสแวนเดอโรห์ แฟรงก์ก็ชอบตรงที่ดีเทลเค้าเยอะ แต่คนอื่นๆก็ชอบเหมือนกัน แต่ละคน งานแต่ละงาน เค้าเก่งกันคนละเรื่อง ไม่มีไอดอล(อย่างที่เรียกกันตอนนี้) อย่างถ้าบอกว่าไอดอลอยากถือตามแบบอย่างคนนั้นคนนี้ จริงๆแล้วงานเค้าดี แต่นิสัยเค้าอาจจะไม่ดีก็ได้ หรืออย่างอันโดะ ก็เคยต่อยมวยมา แต่ก็มาออกแบบได้ ถ้าลูกค้าถามว่าเคยทำอะไรมา แล้วอันโดะตอบว่าต่อยมวย สิ่งแรกที่ลูกค้าคิดเลยก็น่าจะเป็น ต่อยมวยแล้วจะมาสร้างบ้านให้ชั้นได้มั๊ยเนี่ย

[Q.] พี่คิดว่า เด็กที่เพิ่งจบในปัจจุบันควรจะเรียนต่อ หรือเรียนเพิ่มด้านไหนบ้างรึเปล่าคะ :
แล้วแต่คนนะ ว่าอยากจะทำอะไรต่อ เพื่ออะไร หาจุดยืนขอตัวเองก่อน ถ้าอยากจะทำงานออกแบบ ก็น่าจะทำงานหาประสบการณ์ แต่ถ้าอยากอัพดีกรี เป็นอาจารย์ ก็ไปเรียนต่อ
เด็กนอกบางคนกลับมาทำอะไรไม่เป็นก็มี เรียนไทยบางทียังยากกว่าเลย บางคนไปเรียนนอก เพราะอยากไปอยู่เมืองนอกเป็นหลัก เรื่องเรียนเป็นเรื่องรอง

[Q.] แล้วอย่างนี้้ภาษาจำเป็นมากมั๊ยคะ :
ไม่จำเป็นถึงขั้นนั้นนะ แต่ถ้ามีก็เป็นเสน่ห์ อย่างพี่เคยไปติดต่องานที่อิตาลี ไปลุยงาน ก็จำเป็นอยู่เหมือนกัน มันเหมือนเป็นอาวุธลับมากกว่า
ถ้ามีก็ดี

[Q.] สุดท้ายนี้ พี่มีข้อแนะนำแก่รุ่นน้องว่าอย่างไรบ้างคะ:
เสก็ตช์ให้เยอะๆ ไอเดียคิดเยอะๆ ใช้ดินสอ ใช้กระดาษร่าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็คอมพิวเตอร์ ใช้คอมให้น้อยๆ แต่ต้องใช้ให้เป็น”

———-จบบันทึกการสัมภาษณ์———-

ขอขอบคุณ

-พี่กร ที่เคยติวให้จนข้าพเจ้าเอ็นท์ติด เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ จนได้ร่ำเรียนมาจนถึง ปี 5 แล้ว และสละเวลาอันมีค่ามาให้สัมภาษณ์แก่น้องติวเก่าแก่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

-พี่โบว์ บ. Brown Houese ที่ให้ข้าพเจ้าโทรไปหาอยู่หลายรอบและคอยติดต่อเรื่องให้ถึงมือพี่กร และได้บันทึกสัมภาษณ์นี้มาในที่สุด

-อ.ไกรทอง ที่สั่งQ. นี้ขึ้นมา ทำให้ข้าพเจ้าได้กลับไปติดต่อกับรุ่นพี่ และมีเรื่องจะคุยด้วยอีกครั้ง(เพราะบางครั้งโทรไปก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี)

ข้าพเจ้าคิดว่า ความรู้ ประสบการณ์จากรุ่นพี่เล่าสู่รุ่นน้อง คงเป็นประโยชน์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย รวมถึงข้าพเจ้าเองตอนสัมภาษณ์ก็เหมือนโดนสอนเองไปด้วย (^_^”)
ที่ได้เรื่องราวกลับไปคุยกับพี่ที่เคยติวมา ตั้งแต่ยังไม่เข้าสถาบัน จนตอนนีใกล้จะจบออกไปทำงานสายอาชีพเดียวกันกับรุ่นพี่แล้ว แต่ก็ยังห่างไกล และยังคงต้องให้เหล่ารุ่นพี่คอยเสี้ยมสอนอยู่อีกมากโข

———————————————————————-

บริษัท บราวน์เฮ้าส์ จำกัด
http://www.brown-houses.com
null
ที่อยู่ :รายละเอียด :บริษัท บราวน์เฮ้าส์ จำกัด 255 อาคารคาซ่า โรยัล ชั้น 1 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท :
บริษัท บราวน์เฮ้าส์ จำกัดประกอบกิจการทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม คำนวณ ออกแบบ ตกแต่งอาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์
ลักษณะกิจการ :
บริการทางสถาปัตยกรรม
จัดให้บริการออกแบบและดำเนินงานก่อสร้างอาคารและบ้าน ช่วยสร้างความต้องการของลูกค้าให้บรรลุผล สามารถจัดให้บริการทั้งโครงการขนาดใหญ่และเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ตั้งและความต้องการของลูกค้า
ปีที่จดทะเบียน : 2547
———————————————————————-
โรงเรียนสอนศิลปะ เด็กไทยสร้างสรรค์

โรงเรียนเด็กไทยสร้างสรรค์ โดย อาร์ท ฟอร์ เอ็นท์ เป็นโรงเรียนศิลปะเล็กๆ
ที่เปิดสอนศิลปะ สำหรับคนทุกเพศทุกวัยที่มีใจรัก ทั้งศิลปะสำหรับเด็กเล็ก น้องๆมัธยม ศิลปะสำหรับเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
และศิลปะสำหรับบุคคลทั่วไป ในหลากหลายวิชา
http://www.dekthaischool.com/



[Q.3]Sino-Portugese Style
September 17, 2009, 3:39 pm
Filed under: Uncategorized

ประวัติศาสตร์การเกิดสถาปัตยกรรมรูปแบบชิโนโปรตุกีส ในจังหวัด ภูเก็ต

ภูเก็ต เป็นชื่อที่ใช้เรียกในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อว่า ” ภูเก็จ ” แปลว่าเมืองแก้ว ซึ่งตรงกับความหมายเดิมที่ชาวทมิฬเรียกเมืองนี้ว่า ” มณีคราม ” แต่เดิมคำว่า ภูเก็ต ปรากฏอยู่บ้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามหลักฐานที่ปรากฎเมื่อ พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มานานนับพันปีและเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียผ่านแหลมมลายู มีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดแสดงในแผนที่เดินเรือชาวปโตเลมี ซึ่งได้กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาแหลมมลายู ต้องผ่านแหลมจังซีลอนซึ่งก็คือเกาะภูเก็ตนั้นเอง จังหวัดภูเก็ตมีข้าหลวงประจำจังหวัดคนแรกคือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

จังหวัดภูเก็คนั้นได้แบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกะทู้และอำเภอถลาง ภูเก็ต ตามประวัติศาสตร์ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิค์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศีวิชัย และสมัยอาณาจักรศิริรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า ” เมืองตะกั่วถลาง ” เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัยเมืองถลางขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเกาะภูเก็ตทางตอนเหนือและตอบกลางเป็นเมืองถลางที่มีคนไทยปกครอง ส่วนทางตะวันตกและตอนใต้ของเกาะเป็นเมืองภูเก็ตซึ่งมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย ในสมัยก่อนยังไม่มีคำว่าภูเก็ตปรากฏแต่มีคำว่าเมืองถลาง หรือเกาะถลางตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลายชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวโปรตุเกสเริ่มเรียกภูเก็ต แทนจังซีลอนที่เคนเรียกกันมาก่อน ซึ่งมีจดหมายของพ่อค้าฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2229 บางตอนกล่าวถึงเมืองภูเก็ต พอสรุปได้ว่า เป็นเมืองชายแดนของสยาม มีดีบุกอำพัน และไข่มุข

จนสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองต่าง ๆ ทางใต้ เรื่อยมาถึงเมืองถลาง ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งถึงแก่กรรมลง คุณหญิงจันภริยา และคุณมุกน้องสาว ได้รวบรวมกำลังพลต่อสู้กับกองทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรีและคุณหญิงมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในราวศตวรรษที่ 16 ได้มีชาวตะวันตก จีน และอินเดีย อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู และช่องแคบมะละกา ซึ่งทำให้ภูเก็ตได้รับอิทธิพลดังกล่าวไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องภาษา การแต่งกาย ประเพณีต่าง ๆ รวมถึงการก่อสร้างอาคารที่พักต่าง ๆ ในราวศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเป็นช่วงปฎิวัติอุตสหกรรมของชาวตะวันตกการค้าแร่ดีบุกจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาก และพื้นที่ตอนใต้ของเกาะ โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า ” ทุ่งคา ” เป็นบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ ต่อมาหลวงพิทักษ์ทวีป ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในสมัยนั้น ได้ย้ายเมืองจากบ้านเก็ตโฮ่ มาตั้งเมืองใหม่บริเวณทุ่งคา และได้มีการตั้งมณฑลฝ่ายตะวันตก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ต โดยพระยารัษภานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือคอซิมบี้ ณ. ระนอง นอกจากนั้นท่านยังได้เป็น

ผู้วางรากฐานเมืองภูเก็ตที่นำความเจริญรุ่งเรือง ด้านการวางผังเมือง รวมทั้งรูปแบบอาคารตึกแถว ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ ณ. ปัจจุบันนี้

คนจีนฮกเกี้ยน
คนจีนฮกเกี้ยนในเกาะภูเก็ต
เดิมเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในการทำเหมืองแร่ดีบุกในปีนังและสิงคโปร์ ได้เดินทางอพยพเข้ามาอยู่ในเกาะภูเก็ตเนื่องจากภูเก็ตสมัยนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุกและไทยได้ให้การส่งเสริมในการทำเหมืองแร่ดีบุก จึงมีการเข้ามาอยู่อาศัยทั้งนายเหมืองและกรรมกร ในสมัยรัชกาลที่ 5 แร่ดีบุกเป็นที่ต้องการในตลาดทั่วโลก จึงทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตมีการขยายรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนแรงงานด้านทำเหมืองขาดแคลน ท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเรือไปรับคนจีนที่เมืองเอ้หมึงมายังเกาะภูเก็ตถึงปีละ 3 เที่ยว จึงทำให้คนจีนที่อยู่ในเกาะภูเก็ตมีเพิ่มเป็นจำนวนมากและนอกจากทำเหมืองแร่ดีบุกแล้วบางส่วนยังประกอบอาชีพค้าขาย จนทำให้เกาะภูเก็ตรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

คนจีนบ้าบ๋า
คนจีนบ้าบ๋า
ชาวจีนบ้าบ๋าหรือจีนช่องแคบ (Straits Chinese) หมายถึงลูกหลานที่มีพ่อเป็นจีน แม่เป็นมาเลย์หรือ คนพื้นเมือง เมื่อพ่อล่องเรือมาค้าขายแล้วจอดพักเรือแถบช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นจุดหลบมรสุมที่ดีของชาวเรือ การจอดพักนี้บางคราวกินเวลานานนับเดือน จึงมีโอกาส พบกับฝ่ายหญิงซึ่งเป็นคนพื้นเมืองในแถบนี้ ความสัมพันธ์นี้ทำให้เกิดเชื้อสายที่เป็นสายเลือด ผสมขึ้นมา สายเลือดใหม่เหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วไปในแถบช่องแคบมะละกา ทั้งในสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง ภูเก็ต และในบริเวณใกล้เคียงพวกเขามีวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบใหม่ ต่างจากบิดามารดา คือมีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างจีนและมาเลย์เข้าด้วยกัน ภูเก็ตมีชาวจีนบ้าบ๋าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตัวเมืองภูเก็ตและมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้มแข็งครอบคลุมคนกลุ่มอื่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของเมืองนี้ในอดีตชาวจีนบ้าบ๋าภูเก็ตได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมกระแสหลักจากปีนัง ด้วยในอดีตภูเก็ตสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปีนังมาก ความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและวัฒนธรรมมาจากเมืองปีนังจึงแพร่เข้าสู่ภูเก็ตในทุกทาง

รูปแบบทางวัตถุที่โดดเด่น คือ สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสนั้นภูเก็ตเลือกรับมาใช้อย่างตรงไปตรงมา

แต่วัฒนธรรมด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การแต่งกาย หรือภาษาชาวจีนบ้าบ๋า ในภูเก็ตรับมาแล้วดัดแปลงให้เข้ากับรูปแบบสังคมของตน

ชาวโปรตุเกส
ในสมัยก่อนจังหวัดภูเก็ตมีชาวต่างชาติมาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก ชาวโปรตุเกสก็เป็นกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีอยู่มากในจังหวัดภูเก็ต ด้วยสาเหตุมาจากการติดต่อค้าขายจึงทำให้จังหวัภูเก็ตได้เป็นที่รู้จักในหมู่ของชาวโปรตุเกส

ชาวฮอลันดา
กลุ่มคนชาวฮอลันดาก็เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งเช่นกันที่ได้มาทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับจังหวัดภูเก็ต เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาก็ได้นำศิลปะแบบโคโลเนียลเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน เราจะพบเห็นได้ในจังหวัดภูเก็ต
________________________________________________________

ลักษณะศิลปะใน สถาปัตยกรรมแบบ ชิโนโปรตุกีส
sino-portugese
วัฒนธรรมต่างชาติผ่านจิตรกรรมปูนปั้นบนตึกแถวแห่งการค้าขาย
ศิลปะแบบตะวันตกที่ปรากฎอยู่ในอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส

1. ศิลปะโปรตุกีส
– รูปแบบตึกแถวบ้านพักกึ่งพาณิชย์
– การตกแต่งหน้าต่างด้วยซุ้มโค้งแบบแบนและเจาะช่อง
2. ศิลปะแบบฮอลันดา (ดัตช์) ยุคเจ้าอาณานิคม
– ฮอลันดาเรียกเก็บภาษีตามขนาดความกว้างของหน้าอาคารที่ติดกับถนนในประเทศอาณานิคมของตน ทำให้เจ้าของอาคารต้องขยายตัวอาคารไปในทางลึก และในราวปี พ.ศ. 2293 ฮอลันดาได้ออกกฎหมายห้ามคนมะละกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนสร้างบ้านใหม่ คนจีนจึงปรับปรุงบ้านตึกแถวของตนให้สวยงามน่าอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะด้านหน้าอาคาร
3. ศิลปะอังกฤษยุคเจ้าอาณานิคม
– การตกแต่งหน้าต่างด้วยซุ้มโค้งครึ่งวงกลม เจาะช่องแสดงเป็นรูปแฉก ซึ่งนิยมมากในศิลปะยุคนีโอคลาสสิกของอังกฤษ
– อังกฤษออกกฎหมายใช้ในสิงคโปร์ กำหนดให้ทางเท้าหน้าบ้านกว้าง 5 ฟุต ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หง่อคาขี่”

ตึกแถวที่มีเสา และโค้งเรียงอยู่เป็นแนว อยู่หน้าตึกชั้นล่าง ซึ่งรับระเบียงชั้นสอง ทำให้ เกิดลักษณะที่เรียกว่า “อาเขต” หรือหงอคาขี่ ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งหมายถึง ทางเดินกว้าง ๕ ฟุตจีน ที่มีหลังคาคลุม สามารถเดินได้ต่อเนื่องกันตลอด

4. ศิลปะแบบนีโอคลาสสิก
– หัวเสาแบบมาตรฐานของกรีก-โรมันสามแบบ ได้แก่ ดอริก (หัวเสาเรียบ ไม่มีลวดลาย) ไอโอนิก (หัวเสารูปก้นหอย) และคอรินเทียน (หัวเสาทำเป็นใบไม่ประดับ)
– หน้าบันอาคารและจั่วซุ้มประตูหน้าต่างรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว
ลวดลายปูนปั้นของหัวเสา และกรอบประตูหน้าต่าง ตลอดจนลวดลายตกแต่งต่างๆ
ล้วนปราณีต งดงามแบบยุโรป หัวเสามีทั้งแบบ***ริค (Doric Order) ไอโอนิค (Ionic Order)
คอรินเธียน (Corinthian Order) และแบบผสมลักษณะต่าง ๆ อันแสดงออกถึงอิทธิพล “เรอเนสซองส์” และ “นีโอคลาสสิค” แต่บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายใน กลับเป็นแบบจีนปนไทย หรือจีนแท้ ผสมอยู่ในลักษณะที่เหมาะสม
order
Doric Order เป็นแบบที่เรียบง่าย มั่นคงแข็งแรง เป็นแบบแพร่หลายมากที่สุดและเก่าแก่ที่สุด วิหารที่งามที่สุดของกรีกมักเป็นหัวเสาแบบนี้ เนื่องจากชาวกรีกนิยม ความเรียบง่าย ลักษณะของเสาส่วนล่างจะใหญ่แล้วเรียวขึ้นเล็กน้อย ตามเสาจะแกะเป็นร่องลึกเว้า (Flute) ๒๐ ร่อง ตอนบนของเสาจะมีคิ้วที่โค้งออกมา ( Echinus) รองรับแผ่นหินสี่เหลี่ยม ( Abacus) ต่อจากนั้นจึงเป็นโครงสร้างของจั่ว

Ionic Order เป็นแบบที่ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยนุ่มนวล มีลักษณะเรียบกว่าดอริค ตอนบนและตอนล่างของเสามีขนาดเท่ากัน มีร่องเว้า ๒๐ ร่อง แต่ระหว่างร่องมีแถบเรียง (Filler) คั่นแต่ละร่องเว้า ตอนบนของเสาแกะสลักเป็นรูปก้นหอย ( Volute) ส่วนบนจะมีแผ่น หินสี่เหลี่ยม ( Abacus) คั่นไว้ เสาแบบไอโอนิคนี้มีขนาดเล็กกว่าเสาแบบดอริค และนิยมสร้างฐาน ( Base) ทำให้เสามีรูปทรงระหงมากขึ้นซึ่งต่างจากเสาแบบดอริคที่ไม่นิยมสร้างฐานรองรับ

Corinthian Order ให้ความรู้สึกหรูหรา ฟุ่มเฟือย นิยมนำมาเป็นแบบอย่างใน สมัยโรมัน ลักษณะหัวเสามีการตกแต่งโดยแกะเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ โดยดัดแปลงมาจากใบอาคันธัส (Acanthus) รูปร่างคล้ายผักกาด ทำเป็นใบซ้อนกันสองชั้น แล้วแต่งด้วยดอกไม้ ส่วนล่างของเสามีฐานรองรับแบบเดียวกับไอโอนิค

อาคารเก่าในภูเก็ต นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสม จีน – ยุโรป จึงมีผู้กล่าวกันว่า อิทธิพลสถาปัตยกรรม ซึ่งได้รับจากชาวจีน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในปีนังแล้ว ยังได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Influence) จากปีนัง และสิงคโปร์ในสมัยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมการปกครองของอังกฤษ
________________________________________________________

สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสตามแบบฉบับคนภูเก็ต
sino-portugese
ชิโน-โปรตุกีส ตึกเก่าที่งดงามกลางเมืองภูเก็ต ชิโน-โปรตุกีส (Sino-Protuguese) เป็นชื่อเรียกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่ง คำว่า

“ ชิโน” มีคาวมหมายว่า คนจีน ส่วนคำว่า “ โปรตุกีส” มีความหมายว่า โปรตุเกสนั่นเอง ศิลปะสกุลนี้มีลักษณะผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรป

กล่าวคือ ศิลปะแบบจีนจะปรากฎอยู่ตามลวดลายปูนปั้นบนผนังด้านนอก หรือลายแกะสลักที่บานประตูและหน้าต่างชั้นล่าง ทำเป็นลาย ประเภทน้ำเต้า ประแจจีน ลายเมฆ ลายดอกไม้ เป็นต้น ส่วนความเป็นยุโรปที่มีอิทธิพล ของโปรตุเกสเป็นหลัก ผสมด้วยอังกฤษและฮอลันดา ซึ่งล้วนเป็นประเภทล่าอาณานิคม
ในยุคนั้นจะปรากฎชัดในลักษณะโครงสร้างของตัวอาคาร เช่น ชั้นล่างก่อเป็นช่องโค้งยาวต่อเนื่องกันเป็นทางเดินเท้า (อาเขต) หรือการใส่ศิลปะแบบนีโอคลาสสิก (หมายถึงศิลปกรรมคลาสสิกของกรีก-โรมันที่กลับมานิยมอีกครั้งในประเทศตะวันตก) ตามหน้าต่างชั้นบน หัวเสา เป็นต้น เพราะชาวจีนเชื่อว่าหงส์จะปรากฎตัวเมื่อบ้านเมืองสุขสงบ
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสนี้ ปรากฎอยู่ตามเมืองท่าต่างๆในแถบมลายู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกมาก่อน ได้แก่ สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา จากนั้นจึงแพร่เข้าสู่ภูเก็ตโดยผ่านทางปีนัง
ตึกเก่าแบบชิโน-โปรตุกีสส่วนใหญ่ปรากฎอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนกระบี่ และถนนเยาวราช ส่วนมากตึกเหล่านี้สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันอาคารหลายหลังถูกดัดแปลง ซ่อมแซมด้วยวัสดุใหม่ หรือถูกปล่อยทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมแต่ก็มีบางหลังที่เจ้าของยังคงบูรณะดูแลอย่างดี
________________________________________________________

เรื่องราวแห่งวัฒนธรรมและประเพณีความเชื่อบนงานสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส
sino-portugese
ศิลปะแบบจีนที่ปรากฏอยู่ในอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส
– โครงสร้างหลังคานิยมทำแบบเก๋งจีน มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีน แสงด้วยบานเกล็ดไม้ เลือกใช้สีทาบ้านที่เป็นมงคล และถูกโฉลกกับเจ้าของบ้าน
– เลือกทิศการตั้งบ้านตามฮวงจุ้ย ไม่ตั้งบ้านหันหน้าตรงกับทางแยก หรือมีภูเขา โรงพยาบาลตรงกับหน้าบ้าน
– ประดับอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นหรือลายแกะสลักที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็น สิริมงคล ได้แก่
1. ค้างคาวหมายถึงโชคลาภ
2. ผลท้อหมายถึงให้มีความยั่งยืน
3. ดอกพุดตานหมายถึงความคั่ง ร่ำรวย และมียศศักดิ์
4. แจกันหมายถึงให้ร่มเย็นเป็นสุข
5. คันฉ่องเป็นหนึ่งในมงคลแปดประการของจีน
6. ตัวอักษรซิ่วเขียนในวงกลม มีความหมายถึงความยั่งยืนดังที่สมหวัง
7. ดอกบัวหมายถึงความปรองดองหรือการอวยพรให้มีบุตรในเร็ววัน เพราะดอกบัวนั้นผลิดอกและออกผลในเวลาเดียวกัน
8. เสือช่วยขจัดสิ่งชั่วร้าย
9. หงส์เป็นสัญลักษณ์ของความสงบร่มเย็น
– อาคารที่สร้างเพดานสูง เจาะช่องแสงให้มีการระบายอากาศ (แต่ยังไม่มีบ่อน้ำ) และทำผนังฉาบ ปูนขาว เพื่อช่วยระบายความร้อนได้ดีในฤดูร้อน เป็นรูปแบบที่อังกฤษนำเข้ามาโดยผ่านอินเดีย
– บัลโคนีหรือระเบียงที่ยื่นออกมาจากผนังทั้งด้านข้างและด้านหน้าอาคาร
– ลายฉลุเป็นรูปแง่งขิงที่เรียกว่าลายขนมปังขิง
________________________________________________________

รูปแบบของอาคาร
sino-portugese

อั่งม้อหลาว “อั่งม้อหลาว” หรือคฤหาสน์หลังเดี่ยว “อั่งม้อ” แปลว่า ฝรั่งหรือชาวต่างชาติ ส่วนคำว่า “หลาว” แปลว่าตึกคอนกรีต

ตึกฝรั่งหลังใหญ่นี้ปลูกกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของตัวเมืองภูเก็ต บ้างก็อยู่นอกตัวเมือง เจ้าของส่วนใหญ่เป็นของเศรษฐีนายเหมือง การปลูกบ้านแบบอั่งม้อหลาวถือเป็นการประกาศฐานะและหน้าตาได้อย่างดี ความใหญ่โตโอฬาร ความงาม และความประณีตในรายละเอียด จึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนที่โดดเด่นนอกจากความใหญ่โตของอาคาร คือ ลวดลายปูนปั้นที่ประดับตามส่วนต่างๆ ซึ่งช่างได้นำมาผสมผสานกันอย่างสวยงามระหว่างจีนกับฝรั่ง นอกจากนี้เพื่อเสริมความโดดเด่น คฤหาสน์เหล่านี้จึงตั้งอยู่ในอาณาเขตกว้างขวางของบริเวณบ้าน มีรั้วรอบขอบชิด คนภายนอกจึงเห็นความงามได้เพียงเลือนๆ จากระยะไกล แต่อย่างไรก็ดีปัจจุบันอั่งม้อหลาวบางแห่งเปิดให้คนเข้าชมได้อย่างใกล้ชิดเช่น บ้านชินประชา , บ้านของหลวงอนาจนรารักษ์เป็นต้น

ตึกแถวแบบชิโน – โปรตุกีส “เตี่ยมฉู่” หรือตึกแถวแบบบ้านพักกึ่งร้านค้า (Shop – house)

sino-portugese
ตึกแถวแบบชิโน – โปรตุกีส กระจายตัวอยู่บนถนนหลายสายในตัวเมืองภูเก็ตอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ที่มีหนาแน่นและยังสวยงามจะอยู่บริเวณถนนถลางซึ่งเป็นย่านตลาด หลายตึกมีลวดลายปูนปั้น ที่ยังสมบูรณ์ กับถนนดีบุกซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยเป็นบ้านของลูกหลานนายเหมือง บรรยากาศนี้จึงสงบไม่ค่อยพลุกพล่าน บ้านแบบเตี่ยมฉู่ที่อยู่บนถนนสายต่าง ๆ จะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งในแนวทางเดียวกัน คือ เป็นตึกแถวหน้าแคบ แต่ยาวลึก ด้านหน้ามีทางเดินเท้าสาธารณะ กว้าง 5 ฟุต ที่เรียกว่า หง่อคาขี่ ประตูและหน้าต่างด้านล่างทำเป็นลายแบบจีน ส่วนหน้าต่างชั้นบนด้านหน้าอาคารมีลักษณะโค้งยาวจรดพื้นทำเป็นบานเกล็ดแบบฝรั่ง ผนังด้านหน้าอาคารประดับลายปูนปั้นศิลปะจีนและฝรั่งผสมกัน หลังคาเป็นกระเบื้องกาบกล้วยแบบจีน ภายในบ้านเจาะช่องแสงหรือที่เรียกว่า ซิมแจ้

ตัวอย่างอาคาร
sino-portugese
อาคาร ณ ถ. ถลาง และ ถ. กระบี่
แม้ว่าตึกเก่าเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วเมืองภูเก็ต แต่ย่านที่มีอาคารเก่าหนาแน่น คือ ถ. ดีบุก กระบี่ ถลางและเยาวราช เนื่องจากถนนเหล่านี้เป็นย่านเก่าของภูเก็ตประวัติ ในอดีต เมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีชาวจีนเข้ามาค้าขายกันมาก ก่อนตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น เมืองมะละกา มีโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ผลัดเปลี่ยนกันครอบครอง และนำรูปแบบศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ สถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออก เรียกว่า อาคารแบบโคโลเนียล จากนั้นก็ส่งอิทธิพลไปตามเมืองท่าต่าง ๆ อย่างสิงคโปร์ และปีนังซึ่งมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับภูเก็ต

บ้านตระกูลตัณฑวณิช
sino-portugese
ที่ตั้ง ถ. ถลาง ห้องเลขที่ 20 (ติดกับศาลเจ้าไหหลำ) ด้านหน้าตึกทั้งชั้นล่างและชั้นบนตกแต่งตามแบบจีน และเป็นอาคารเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ตึกแถวห้องนี้เป็นบ้านของอ๋องบุ้นเทียม–พ่อตาของพระพิทักษ์ชินประชา อดีตนายเหมืองแร่ดีบุก เดิมเคยเป็นสำนักงานดำเนินกิจการโพยก๊วน และรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้านหน้าตึกชั้นล่างทำประตูไม้สองชั้นแบบจีน ขนาบด้วยหน้าต่างข้างละบาน สลักลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม เหนือประตูติดป้ายชื่อสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตรา “ฮับหล่องฮวด” ส่วนประตูชั้นในจารึกคำจีนที่มีความหมายมงคลว่า “ให้ธุรกิจเจริญเฟื่องฟูงอกงาม” ประตูชั้นนอกแกะสลักไม้เป็นลายดอกพุดตาน อันเป็นไม้มงคลในคติจีน มีป้ายภาษาจีนครึ่งวงกลมเหนือหน้าต่างทั้งสองข้างเป็นข้อความประชาสัมพันธ์กิจการว่า ห้างแห่งนี้รับโอนเงินไปยังเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฮกเกี้ยนในจีน

ถนนดีบุก
sino-portugese
เป็นถนนสายยาวคล้ายกับ ถ. ถลาง แต่สงบเงียบไม่พลุกพล่าน ด้วยเป็นย่านอาศัย เจ้าของบ้านส่วนใหญ่เป็นลูกหลานนายเหมืองผู้มั่งคั่งหลายตระกูล กลุ่มอาคารตึกแถวมีลักษณะเหมือนกันเป็นกลุ่ม ๆ สี่ห้าห้องติดกันไป เพราะเศรษฐีนายเหมืองแต่ละท่านมีลูกเมียหลายคน จึงมักปลูกตึกหลายหลังต่อกันไปเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนในครอบครัว โดยเจ้าของมักออกแบบตกแต่งด้านหน้ากลุ่มอาคารของตนให้เหมือนกัน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของอาคารบนถนนเส้นนี้คือ เน้นความเป็นส่วนตัว นิยมทำรั้วลูกกรงโปร่งตากั้นหง่อคาขี่เป็นสัดส่วน และใช้ลูกกรงเป็นราวระเบียงหน้าชั้นต่าง ๆ ตึกสำคัญ ได้แก่

กลุ่มบ้านนายเหมือง
sino-portugese
ที่ตั้ง
อยู่เกือบปลาย ถ. ดีบุก ตัดกับ ถ. สตูล ตั้งแต่เลขที่ 79-87 มีจำนวนห้าห้องเรียงต่อกันไป
สองหลังแรก ได้แก่ บ้านเลขที่ 79 กับ 81 เป็นบ้านของตระกูลตันติวิท ส่วนอีกสามหลังตั้งแต่เลขที่ 83-87 เป็นบ้านของขุนวิเศษนุกูลกิจ ชั้นบนทำหน้าต่างโค้งยาวจรดพื้น ชั้นล่างเป็นประตูไม้แบบจีน ขนาบด้วยหน้าต่างข้างละบาน กรอบหน้าต่างประดับด้วยลายฉลุอย่างประณีต เน้นใช้สีทองตัดกับสีน้ำตาลเข้มให้ดูโดดเด่น เหนือหน้าต่างมีช่องระบายอากาศ ตกแต่งฉลุลายแบบจีน ทำเป็นลายเครือเถาดอกพุดตาน ตรงกลางประดับผลไม้มงคลในคติจีน อย่างผลทับทิม ผลท้อ เป็นต้น และ เหนือประตูบ้านก็ยังมีแผ่นป้ายภาษาจีนติดอยู่ (เหลือเพียงสองห้อง) ประตูมีสองชั้น ชั้นนอกมักเจาะหรือฉลุลายเป็นประตูโปร่ง เพื่อช่วยถ่ายเทอากาศภายในบ้านให้เย็นสบาย ส่วนชั้นในเป็นประตูทึบ และมักเปิดในเวลากลางวัน กระเบื้องที่ประดับตามผนังสั่งมาจากปีนัง ปัจจุบันยังคงคุณภาพทั้งสีและลวดลายอย่างชัดเจนสวยงาม

อั่งม้อหลาวของหลวงอำนาจนรารักษ์
sino-portugese
ที่ตั้ง
อยู่ปลาย ถ. ดีบุก ด้านติดกับ ถ. สตูลมีลักษณะเด่นอยู่ที่นำประติมากรรมปูนปั้นมาประดับเต็มพื้นที่ เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปหงส์กางปีกบินระหว่างลายเมฆ (ยู่อี่) และดอกไม้ห้อยระย้า เป็นลวดลายอย่างจีน หงส์ หมายถึงความงามและอบอุ่น ส่วนลายเมฆ เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และดอกไม้นั้น น่าจะเป็นดอกท้อ เป็นเครื่องป้องกันภูตผีปีศาจ
หัวเสาแบบคอรินเทียนเป็นปูนปั้นลายใบไม้ ผสมผสานกับลวดลายแบบจีนได้อย่างงดงาม เสาโครงสร้างที่มุขข้างชั้นบน หัวเสาเป็นแบบคอรินเทียนผสมไอโอนิก คือหัวเสาม้วนเป็นก้นหอย มีลายค้างคาวแบบจีนสอดแทรกอย่างกลมกลืนกัน

ลักษณะของเสาต้นนี้เป็นแบบโรมันมีการทำบัวที่สวยงาม ลวดลายที่ปรากฏอยู่บนเสานั้นเป็นลายของดอกไม้ที่คนจีนในสมัยก่อนชื่นชอบและให้ความนับถือ
ถนน เยาวราช
sino-portugese
ปัจจุบันเป็นย่านช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยว เพราะเป็นแหล่งขายงานศิลปหัตถกรรมและของเก่า ตลอดสองฝั่งถนนเป็นที่ตั้งของตึกแถว มีอั่งม้อหลาวของนายเหมืองแทรกอยู่บ้าง ความโดดเด่นของอาคารตึกแถวบนถนนสายนี้คือ การตกแต่งด้านหน้าอาคารที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเจาะช่องหน้าต่างเป็นบานเกล็ดยาวจดพื้นที่หน้าอาคารชั้นสอง และอาคารที่สร้างสูงสามชั้นก็พบมากกว่าถนนสายอื่น ๆ

ตึกแถวของตระกูลลิมปานนท์
sino-portugese
ที่ตั้ง
เป็นอาคารสามชั้น เลขที่ 96 เดิมเป็นสำนักงานรับซื้อแร่ของบริษัทฝรั่ง อาคารเก่าสูงถึงสามชั้น เช่นนี้หาชมได้ยาก ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสสิกประดับปูนปั้นแบบจีน ประตูทำด้วยไม้สลักลวดลายพรรณพฤกษาและปิดทองจนโดดเด่น ตรงกลางประตูทำเป็นวงรีรูปไข่ อันหมายถึงคันฉ่อง หนึ่งในมงคลแปดประการของจีน ด้านหน้า
ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มโค้ง หน้าต่างรองรับด้วยเสาแบบไอโอนิกหรือก้นหอย ด้านล่างทำเป็นราวลูกกรงติดผนัง ระหว่างซุ้มโค้งประดับประติมากรรมนูนต่ำรูปสิงโตและหงส์ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์มงคลตามคติจีน
ชั้นที่ 3 ตกแต่งวิจิตรกว่าชั้นอื่น ๆ ลายจั่วกรอบหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปใบไม้ที่อ่อนช้อย มีเสาแบบไอโอนิกก้นหอยกับแบบคอรินเทียนเป็นใบไม้ขนาบข้าง และระเบียงปิดคลุมหลังคา

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ( โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว )
sino-portugese
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวแห่งนี้ ได้เปิดให้เข้าชมฟรีสำหรับผู้ที่สนใจงานสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ในด้านสถาปัตยกรรมภานนอกมีการใช้เสาแบบโรมัน หน้าต่างก็ยังมรการทำลวดลายประติมากรรมปูนปั้นที่สวยงามแสดงให้เห็น
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว สร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. 2454 เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรม Renaissance และสถาปัตยกรรม Roman มีรูปปั้นค้างคาว ติดตั้งอยู่ใต้ฝ้าด้านนอก บริเวณหน้าจั่ว ด้านหน้าอาคาร ซึ้งถือว่าเป็น สัญลักษณ์ของความโชคดี

sino-portugese
กระเบื้องที่ปูไว้ตามทางเดินในย่านของถนนถลางที่มีสถาปัตยกรรมชิโปรตุกีส กระเบื้องที่เห็นได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติซึ่งมาจากสวิชเชอร์แลนด์

บทสรุป
งานสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่พบเห็นมากมายในจังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่ควรแก่คุณค่าของชาวจังหวัดภูเก็ต นั่นหมายถึงบรรพบุรุษและความเจริญรุ่งเรืองที่แสดงให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ชาวต่างชาติทั่วโลก เช่น ชาวโปรตุเกส , ชาวฮอลันดา , ชาวสวิชเอร์แลนด์เป็นต้นที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับจังหวัดภูเก็ตทั้งสิ้น
สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสส่วนใหญ่นั้นจะมีการแกะสลักจิตรกรรมปูนปั้นเป็นลวดลายต่างๆที่สวยงามทั้งที่เป็นลวดลายเกี่ยมกับวิถีชิวิตและความเชื่อของชาวภูเก็ตเองและวัฒนธรรมชาติชาวต่างชาติก็ยังมีอยู่ในจิตรกรรมปูนปั้นด้วยเช่นกัน การแกะสลักปูนปั้นที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในจิตรกรรมชิโนโปรตุกีสเช่นภาพลูกท้อ, ภาพหงส์ , ภาพเสือ ,ภาพแจกัน ,ภาพนกกำลังเกาะอยู่บนดอกไม้เป็นต้น ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่มีความหมายแห่งสิ่งที่มงคล ที่จะทำให้ชีวิตของคนในบ้านมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความโชคดีและปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย

วิถีชีวิตคนจีนในจังหวัดภูเก็ตได้ถูกถ่ายทองผ่านงานสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสจากความตั้งในของคนรุ่นหลังที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าคนจีนภูเก็ตในสมัยก่อนมีความเป็นอยู่ ความชื่นชอบ และความเชื่อในสิ่งที่เป็นมงคลให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆได้ชื่นชมกับสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจบันนี้



Professional Practice II [Field trip 10 – 12 Jul 2009]
July 22, 2009, 3:29 pm
Filed under: Uncategorized

*****คำแนะนำ หลังเปิดหน้าจอนี้แล้ว ไปอ่านของคนอื่นก่อนก็ได้ค่ะ เพราะอาจใช้เวลาในการโหลดรูปเล็กน้อยถึงปานกลาง*****

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552
สนามบินสุโขทัย


ภายในมีสวนสัตว์ รวมทั้งร้านอาหาร และโรงแรม
โรงแรม

มีการวางผังแบบสมมาตร อาคารเปิดโล่ง หลังคาสูงใหญ่
ซุ้มไม้เลื้อยก่อนไปถึงสระน้ำเป็นส่วนที่ข้าพเจ้าชอบมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานเข้ากับธรรมชาติ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างลงตัว

หลังจากดูโรงแรมก็แวะทานข้าวที่ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างใน และกล่าวขอบคุณ อำลากับวิทยากรที่พาชมสนามบิน
และข้าพเจ้าก็ได้ถ่ายภาพนครวัดมาด้วย(จำลอง) แค่เห็นก็รู้สึกเหนื่อยแทนคนทำโมเดล -_-“

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์ตาสังคโลก สุโขทัย

ด้านในมีการบอกวิธีผลิต ประเภทของดินเผา ตัวอย่าง และเตาเผาโบราณ

เผานานเท่าไหร่ ใส่สารอะไรเข้าไป เผาไหม้ขนาดไหน จึงจะออกมาเป็นแบบใด มีการระบุ แล้วนำตัวอย่างมาวางให้เห็นกันเลยทีเดียว
สภาพของเตาภายใน ที่มีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องการเก็บรักษา เพราะความชื้น และน้ำที่รั่วไหลเข้ามา

ฝนตกเมื่อขึ้นรถ จนไปถึง
วัดเจดีย์เก้ายอด ฝนซาลงจึงได้เข้าไปเดินดู ทางเดินที่เหมือนปูพรมไว้ เพราะมอสเกาะอิฐที่พื้น

วัดเจดีย์เอน

มีเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธาน วิหารสร้างด้วยศิลาแลงด้านหน้า แต่เหลือเพียงแค่เสาที่ยังหลงเหลือ มีการสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นหลังคาจั่วขนาดใหญ่ครอบคลุมบริเวณเสา

มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร

ภายในมีวัดวาอารามมากมาย หลายวัด ซึ่งยังมีสภาพดีอยู่และเสื่อมสภาพไปแล้ว เหลือซากอยู่บ้าง

ที่แรกที่ข้าพเจ้าเดินผ่าน(แต่ไม่ได้เข้าไป) คือ วัดทุ่งศรี อยู่ด้านนอกกำแพงเมือง

ผนังที่คดเคี้ยว ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า อาจเป็นเพราะแผ่นดินทรุดลง หรือจงใจ?(มาทราบภายหลังว่าคือ กำแพงคด)


หลบฝนกันอยู่ซักพักจนฝนเริ่มซา พวกเราจึงค่อยๆออกมาเดินถ่ายรูปกัน
เมื่อเดินไปด้านข้าง พบกำแพงที่สลักลายสวยงามมาก ไม่น่าเชื่อว่าคนสมัยก่อนจะทำได้ถึงขนาดนี้

วัดนางพญา

ลวดลายปูนปั้นประดับ มีความงดงามมาก เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับงานประดับเมืองเหนือ

เมื่อเดินไปตามถนนต่อไป ก็ไปเจอ
วัดเจดีย์เจ็ดแถว

มีเจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม อาจเคยถูกหลังคาคุมสันนิษฐานจากซากที่เหลือ มีการผสาน ศิลปะพม่า ขอม ล้านนาอยู่ด้วยกัน
ซากที่ยังเหลืออยู่นั้นได้รับการบูรณะ ยกหินขึ้นกลับไปวางเรียงด้วยความรู้ทางแขนงสิทยาศาสตร์ หลังจากที่สังเกตมาหลายๆที่ ยอดเล็กๆที่อยู่ด้านบนมักไม่เหลืออยู่แล้ว
วัดเจดีย์เจ็ดแถวนั้น มีระเบียงคดล้อมรอบ มีวิหารประธาน เจดีย์ริวารต่างๆ รอบๆ มีวิหารอยู่ด้านหลัง

วัดช้างล้อม

เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นรูปปั้นช้างสีขาวอยู่รอบๆ ภายในมีซากเสาศิลาแลงหักพังอยู่ คาดว่าน่าจะเคยมีหลังคาปกคลุมเช่นกัน ภายในมีลานกว้างอยู่ (ลานมีไว้เพื่อเดินบูชาเจดีย์)


ดวงอาทิตย์ใกล้ตก ท้องฟ้ากำลังสวย ยอดวัดเป็นเงาด้านหน้า ข้าพเจ้าอยากจะถ่ายให้ออกมาเหมือนโปสการ์ด เลยยืนถ่ายท้องฟ้าอยู่หลายรอบ

______________________________________________________________
วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552

วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง

เริ่มต้นวัน ตื่นกันตั้งแต่ตีห้า เรียกว่าแทบไม่ได้นอนเลยทีเดียว และเราก็ย้อนกลับมาที่เก่าที่นัดหมายไว้ แต่ว่าคราวนี้ ได้มีการซื้อต้นเทียนพรรษามาถวายพระด้วยเพราะใกล้เข้าพรรษาแล้ว
วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง ถือเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่
องค์ประธานก่อด้วยซิลาแลง ฉาบปูน มีบันไดซุ้มทางเข้าด้านหน้า ซุ้มด้านหน้ามีการวางรูปพระพักตร์ของพระพรมหันหน้าเอามุมออก เพื่อเล่นกับตัวเจดีย์ เช่นศิลปะขอม

ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ได้ลองเดินขึ้นไปด้านบน เพราะได้ยินจากอาจารย์กรินว่า ข้างในมี พุ่มรูปดอกบัวอยู่ จึงพากันไปดู

ตอนขาขึ้นก็ไม่ลำบากอะไร แต่ยิ่งสูงก็เริ่มจะเสียวๆขึ้นมาบ้างแล้ว บันไดก็ยิ่งชันขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียนมาว่า 18 เซนติเมตรคงไม่ใช่ที่แน่นอน ขาลงไม่ต้องพูดถึง แทบไม่อยากเงยหน้าเลยทีเดียว
อาจารย์จิ๋วก็ตะโกนมาด้วยความเป็นห่วงอยู่ข้างล่าง บอกว่า หลาน อย่ามองไปไกลๆ มองที่เท้าๆ
พอเริ่มพ้นจากบันไดขั้นบนสุดทั้งหมด ถึงค่อยหายเข่าอ่อน พอจะเข้าใจคำว่าเข่าอ่อนขึ้นมาบ้างแล้ว

วัดกุฎีรายหรือ กุฎาราย

เป็นอาคารสองหลัง(อีกหลังหนึ่งอยู่เยื้องๆไปด้านหลัง) ก่อสร้างด้วยศิลาแลง (ส่วนมากจะก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งสิ้น สมัยก่อนอาจจะมีศิลาแลงมากก็เป็นได้ ) หลังคาก็เป็นศิลาแลง มีการก่อสร้างด้วยวิธีคอร์เบล หรือค่อยๆก่อเฉียงๆเข้ามาหากันเรื่อยๆ จะเป็นคนละวิธีกับการทำอาร์ค ซึ่งจะใช้ตัวคีย์สโตนมาเป็นตัววางสุดท้าย
ด้านหลังจะมีเจดีย์ที่พังแล้วเหลือแต่ส่วนฐาน เนื่องจากสภาพชำรุดจนไม่สามารถคาดเดาแล้วบูรณะได้ แต่ข้าพเจ้าว่า การที่มันไม่ได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นักก็ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ทำให้รู้สึก ขลัง และเก่าแก่ดี

วัดมหาธาตุ

ข้าพเจ้าเคยเห็นในโทรทัศน์บ่อยๆ เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางสุโขทัย มีกำแพง คูน้ำล้อมรอบ เมื่อมองเข้าไปจะเห็นเจดีย์ต่างๆเรียงรายมากมาย รวมถึงพระพุทธรูปที่อยู่ตามที่ต่างๆ กระจายไปทั่ว ไปทางไหนก็ยังคงเจอพระพุทธรูปตลอดเวลานั่นเอง
ขณะที่ไปถึงเป็นเวลาเที่ยง แดดค่อนข้างร้อน แต่ก็ทำให้ถ่ายรูปได้ง่ายขึ้น

เจดีย์แสดงให้เห็นถึงศิลปะสุโขทัย มีปรางทิศ 4 องค์แบบขอม เจดีย์ประจำมุมแบบล้านนาอีก 4 มุม
ข้าพเจ้าสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่ขี่จักรยานอยู่โดยรอบ และมาเป็นกรุ๊ปทัวร์
ด้านล่างของพระพุทธรูปข้าพเจ้าสังเกตเห็นป้ายห้ามปีนป่าย อาจเป็นเพราะ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่ง ที่มักพาลูกเล็กเด็กแดงมา และปีนป่ายด้วยความไม่รู้ และการนับถือศาสนาที่ต่างกันจึงต้องมีป้ายนี้
และในที่สุด ข้าพเจ้าก็เจอเด็กชายกับเด็กหญิงอายุประมาณ สี่ห้าขวบ ผมสีทอง ปีนป่ายนั่งเล่นอยู่บนตักพระพุทธรูป เมื่อพ่อแม่ของเด็กเดินมาเห็นก็รีบอุ้มลงแทบไม่ทัน

ที่นี่มีช่องบันไดที่แคบมากๆๆๆๆๆ เดินได้แค่พอดีขาเท่านั้น

รูปสลักที่ฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มีทั้งช้างและครุฑ

มีคนถามอาจารย์จิ๋วว่า ทำไมถึงมีวัดเรียงๆกันอยู่ใกล้ๆเยอะแยะไปหมด อาจารย์จึงถามว่า แล้วทำไมต้องปลูกบ้านไว้ใกล้ๆกัน คำตอบจึงเป็นที่กระจ่างแก่ทุกคน
อีกคำถามที่ว่า เสาที่สร้างพร้อมกัน แต่ทำไม่เหลือซากแทบจะไม่เท่ากันเลย อาจารย์ก็ให้คำตอบกระจ่างชัดอีกรอบว่า คนเกิดพร้อมกันยังตายไม่พร้อมกัน…จบข่าว

เดินออกมาทางทิศใต้จากวัดมหาธาตุอีกหน่อย ก็ไปถึงที่

วัดศรีสวาย อยู่ใกล้กับกำแพงเมืองสุโขทัยทิศใต้

มีปรางค์สามองค์ มีศิลปะแบบขอม แต่เพรียวกว่าและฐานเตี้ยกว่า มีลวดลายปูนปั้นตกแต่งประดับ
มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ
ภายในมีสระน้ำขนาดใหญ่ คาดว่าอาจใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย
ด้านหน้าที่เหลือแค่เสาคาดว่าจะมีหลังคาปิดอยู่เช่นกัน

วัดพระพายหลวง

วัดแห่งนี้เคยผ่านการบูรณะในสมัยสุโขทัยหลายครั้ง เจดีย์ด้านหน้าชำรุด จนไม่สามารถคาดคะเนรูปร่างได้ มีลักษณะเป็นศิลปะแบบขอมอยู่ด้วยเช่นกัน
มีการสลักลวดลายวิจตรงดงามมาก

พระพุทธรูปที่ชำรุดแล้ว

วัดศรีชุม
null

ครั้งแรกที่เห็นไกลๆ ลานโล่งมากหลังจากเข้ามาในกำแพง มีทางเดินตรงไปยังตัววัด ที่ดูแทบจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมวางอยู่ตรงกลาง มีการเปิดช่องตรงกลางเพื่อให้เข้าไปศักการะพะพุทธรูปได้ ดูเป็นวัดที่มีหน้าตาแปลกมาก
วัดศรีชุมนั้นประกอบด้วย มรฑปที่เหลือเพียงตัวอาคาร แต่หลังคานั้นถูกทำลายลงแล้ว
ด้านหน้าเป็นวิหารที่เหลือเพียงเสา เหมือนทุกๆที่ที่ผ่านมา
ด้านขวามือข้างหลังมีมณฑปขนาดเล็กๆอยู่
ข้างๆมรฑปใหญ่ก็คือวิหารขนาดเล็กซึ่งมีพระพุทธรูปอย่ภายในเช่นกัน

ต้นมะม่วงที่อยู่ข้างหน้ามีอายุกว่าเจ็ดร้อยปี(จากการคาดเดาของอาจารย์จิ๋ว) ทำให้วัดนี้ดูสมบูรณ์มากขึ้น
วัดศรีชุมนี้ถือเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย (นั่ง) อยู่ ทราบภายหลังว่า พระพุทธรูปนี้เคยได้มีการบูรณะแล้วโดยการใช้น้ำยาบางอย่างจากประเทศญี่ปุ่นขัดล้างคราบตะไคร่ที่อยู่บนพระพุทธรูป ก่อนที่จะเห็นว่าเป็นสีอย่างในปัจจุบันนี้
ในการปลูกต้นไม้ของที่นี่ มีการยกเนินด้วยศิลาแลง เป็นส่วนหนึ่งของการจัดแลนด์เสคป
ด้านหลังของมณฑป จะเห็นว่ามีแท่นเสาโผล่ขึ้นมาอีกสองแท่น เมื่อข้าพเจ้าลองถามดู ก็มีการคาดคะเนว่า อาจเคยมีพระพุทธรูปสถิตอยู่ก่อน

สรีดภงส์ คือเขื่อนเก็บน้ำของเมือง สวยงามมาก ด้านหลังเป็นภูเขา และการเดินทางของวันนี้ก็จบลง

_______________________________________________________________________

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2552
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

สิ่งแรกที่ได้ยินคือเสียงของมรรคทายกที่บอกให้คนเข้ามาบริจาคเพื่อซื้อหนังสือเรียนให้เณร ไม่เหมือนวัดอื่นๆที่ไม่มีหนังสือเรียนจริงๆให้เณร และพูดต่อไปเรื่อยๆไม่หยุด เหมือนกับขายของที่เปิดท้ายยังไงยังงั้น ไม่หยุดแม้กระทั่งอาจารย์ขอเวลาเพื่อจะให้ความรู้กับนักศึกษา
ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ยินอีกว่า จะมีการแจกพระเครื่องฟรี มูลค่า 199 บาทแก่ทุกคน คุณลุงคุณป้าพี่น้าอาทั้งหลายก็รีบมาต่อแถว ถ้าบริจาคอีกยี่สิบบาทกจะได้พระสององค์ ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกๆกับคำที่ดูเหมือนเป็นโฆษณากลายๆ ความศรัทธากับการค้า???


ข้าพเจ้าอาจคิดมากไปเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย แต่เมื่อวัดที่เจริญมากๆ ต้องเป็นแบบนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้หลายๆวัดต้องกลายเป็นเช่นนี้เลย
ทุกสิ่งคือเงิน ความดีทำได้ด้วยการจ่ายเงินทำบุญ การได้บุญคือการทำบุญด้วยเงินเพียงอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ?
แต่ความศรัทธาก็ยังทำให้คนสบายใจที่จะยอมจ่ายเพื่อให้ได้บุญแบบที่เชื่อถือกัน
อาจมีเพียงข้าพเจ้าที่มีความคิดแปลกแยก แต่ข้าพเจ้าเชื่อในการปฏิบัติมากกว่าการทำบุญ พระที่ข้าพเจ้าเคารพได้บอกว่า การทำกุศลเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่การปฏิบัตินั้น สำคัญยิ่งกว่า
กลายเป็นมาพูดเรื่องบุญกรรมได้อย่างไรก็ไม่รู้………….

ภายในสามารถถ่ายรูปได้ แต่ห้ามยืน
มีการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม และ ซุ้มทำบุญมากมาย

รดน้ำมนตร์และทำบุญ (!)

ฝักบัวที่อยู่ด้านนอก ชวนให้ข้าพเจ้าสงสัยว่ามีไว้ทำอะไร แต่ก็คลายข้อสงสัยเมื่อเพื่อนซื้อไป แล้วบอกว่า กินตรงเมล็ดมัน ข้าพเจ้าลองชิมดู และก็หยุดไว้ที่เมล็ดนั้น

สถานที่สุดท้าย วัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก

อากาศร้อนมาก จนไม่อยากขึ้นสะพานลอย
เมื่อเข้าไปก็จะเห็นมณฑปที่กำลังสร้างอยู่พอดี

สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีพระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประตูหน้าต่างเป็นบานไม้แกะสลัก
พระวิหารอยู่ถัดไปข้างๆ
ด้านใน มีการตกแต่งด้วยสีทองดูเป็นประกาย แต่ทว่าสีที่เสาโดนคนนังพิงจนหลุดลอกไว้ จนกระทั่งมีป้ายห้ามนั่งพิงไว้

null

ขากลับ เดินไปเจอกลุ่มคนเสื้อแดงและตำรวจที่คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่…

หวังว่าซักวันหนึ่งบ้านเมืองเราคงจะสงบเสียที……………….
บางทีคนอาจจะไปวัดไปโบสถ์น้อยลง น่าจะลองจับมาร่วมทริปนี้ดูซักครั้ง
_____________________________________________________
จื่อจีจื่อปี้ ไป่จ้านไปเซิ่ง
รู้เขา รู้เรา ร้อยรบร้อยชนะ
มิใช่ว่าข้าพเจ้าจะไปสู้อะไรกับใคร แต่ข้าพเจ้าต้องสู้กับตัวเอง
การที่จะพัฒนาอะไรก็ตาม จะต้องรู้ถึงที่มา ความเป็นมา การวิวัฒนาการ หรือประวัติของสิ่งนั้นๆ จึงจะสามารถสานต่อเพื่อโยงไปถึงอนาคตได้ เช่นกัน ในทริปนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ถึงสถาปัตยกรรมสมัยก่อนของประเทศไทยในภาคเหนือ และสิ่งที่เห็นด้วยตาตัวเองมิใช่เปิดหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจมากกว่าการอ่านเพียงแค่ในหนังสืออย่างเดียว และนำสิ่งที่ได้พบเห็น ดูการใช้ภูมิปัญญาต่างๆ มาประยุกต์เข้าใช้กับวิชาการที่ข้าพเจ้าเคยได้เรียนมา และใช้พัฒนาตนเอง

ข้าพเจ้าขอจบลงด้วยคำสอนของวัดคือ
ชีวิตคือการต่อสู้ จงเป็นอยู่ด้วยความอดทน
อย่างที่ข้าพเจ้าเคยเขียนในควิซแรก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ เราต้องยอมรับในบางสิ่ง ต่อสู้กับผู้อื่นและตนเอง และก้าวต่อไปเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิชาการ หรือการดำเนินชีวิตประจำวันก็ตาม

null
____________________________________________________________



Professional Practice II [Field Trip 07-09 Jul 2009]
July 21, 2009, 3:59 pm
Filed under: Uncategorized

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552
วันนี้ข้าพเจ้าและเพื่อนในกลุ่มตื่นเช้ากว่าวันที่ผ่านๆมา ยังเห็นผู้คนใส่บาตร เพราะร้านก๋วยจั๊บที่กำลังจะไปทานนั้น อาจารย์บอกมาว่าคิวยาว “ป้อก๋วยจั๊บ” หน้าสถานีรถไฟลำปาง


ข้าพเจ้าสั่งก๋วยจั๊บธรรมดาไปหนึ่งที่ แต่เพราะคิวเยอะและยาว ทำให้ได้เกาเหลามาแทน แต่เนื่องจากข้าพเจ้ายังอยากทานก๋วยจั๊บจริงๆ สุดท้ายที่ร้านก็เลยลวกเส้นมาให้อีกถ้วยแทน รสชาติอร่อย ไม่จืดเหมือนอาหารเหนือที่เคยลองทานมาหลายวัน สมแล้วที่คิวยาว กินไปซักครู่คนรอบๆก็ลุกขึ้นยืนกันหมด เสียงเพลงชาติดังมาจากสถานีรถไฟนั่นเอง ข้าพเจ้าจึงยืนเคารพธงชาติและแอบถ่ายรูปบรรยากาศที่หาดูได้ยากเช่นนี้มาสองสามรูป

วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส แดดออกจะแรงไปเสียด้วยซ้ำ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกดีกว่าเวลาที่ฝนตก เพราะหลังจากข้าพเจ้าตากฝน และลม(ตอนนั่งในรถบัส) หวัดก็เริ่มทำร้าย สถานที่แรกที่ไปถึงวันนี้คือ
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(พระบรมธาตุดอนเต้า) อ.เมือง จ.ลำปาง

อุโบสถวัดสุชาดาราม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างเชียงแสน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยภาพลงรักปิดทอง

ช่องเปิดที่มีเอกลักษณ์ ไม่ใช่แค่หน้าต่างบานกรอบ

สังเกตได้ว่าก่อนจะถึงตัวเจดีย์ จะมีลานกว้าง และมีเส้นทางนำสายตาทำให้คนที่เข้ามามักจะเดินเข้าทางซ้ายก่อน และข้าพเจ้าได้มองด้วยสายตาตัวเองก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คนทุกคนที่เดินเข้าไป เลี้ยวซ้ายทั้งหมด เป็นอะไรที่ คนเราไม่รู้ตัวจริงๆ

คำถามจากใครซักคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า ทำไมสิงห์หรือพญานาคต้องอ้าปาก อาจารย์จิ๋วก็บอกว่า เพราะเวลาสัตว์แสดงอำนาจในการขู่ ก็ต้องอ้าปากและส่งเสียงคำราม เพราะฉะนั้น นี่คงเป็นสาเหตุที่ไปที่ไหน ทั้งสิงห์ทั้งนาคก็ต้องอ้าปากกว้างจนเห็นลิ้นไปตามๆกัน ไม่เว้นสิงห์หน้าพระบรมธาตุดอนเต้า

วัดปงสนุก

วัดปงสนุกเป็นวัดเก่าแก่มากแห่งหนึ่ง เคยเป็นที่ฝังเสาหลักเมืองหลังแรก แต่ปัจจุบันได้ถูกย้ายออกไปแล้ว
วิหารพระเจ้าพันองค์ถือเป็นวิหารที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์มาก ทั้งการตกแต่งแบบโฟล์ค พื้นถิ่น โดยใช้ฝีมือของชาวบ้านที่ไม่ประณีตมากนัก สีสันหลากหลาย รวมไปถึงหลังคาที่เชิดขึ้นทำให้ดูมีเสน่ห์ขึ้นอีก รายละเอียดโครงสร้างที่มีก็ต่างออกไปจากที่อื่นๆ
เซียมซียุคใหม่

วัดศรีรองเมือง(วัดท่าคราวน้อยพะม่า)

วัดศรีรองเมือง ถูกสร้างโดยช่างชาวพม่า ปัจจุบันมีอายุถึง 100 ปี เสา ฝ้าเพดาน ถูกตกแต่งไว้ด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม จนกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนชั้นเห็นได้เด่นชัดเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีลายฉลุประดับหน้าจั่วและเชิงชายคา ดูอ่อนช้อยกว่าที่อื่นๆ รวมทั้งสีทองตัดกับสีน้ำตาลแดง

ภายในวิหาร ตกแต่งไว้อย่างวิจิตร เสาประดับประดาด้วยปั้นรักและกระจกหลากสีสะท้อนแสง
เพดานมีการตกแต่งด้วยกรอบลาย เป็นเส้นลวดลายต่างๆ รวมทั้งกระจกสีหลากหลาย

กำแพงฉาบปูนบางส่วนพังทลายลง เหลือให้เห็นอิฐข้างใน

ห้องส้วมแบบพม่า

ต่อจากนั้นก็แวะบ้านพื้นถิ่นข้างทาง
หลังแรกเป็นบ้านช่างไม้เก่า มีคุณยายอาศัยอยู่คนเดียว หน้าบ้านมีข้อความระบุว่า พ.ศ. 2482

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเรือนไทยพื้นถิ่นที่มีความประณีต เนี้ยบ ทุกอย่าง ทั้งการเข้าเดือย เข้ามุม ปิดขอบอย่างดีไม่มีขาดเกิน

ระหว่างทางก็ได้เห็นบ้านที่มีรั้วระเบียงเป็นตัวโนตดนตรี ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าของบ้านคงจะขายเครื่องดนตรีหรือเป็นนักดนตรี แต่ก็เหลือบไปเห็นว่า เป็นร้านขายของต่างหาก

บ้านยองโบราณ บ้านอนุรักษ์ดีเด่น จ.ลำพูน

คุณยายท่าทางใจดีหรือ แม่บัวลา ใจจิตร ยืนต้อนรับอยู่บนเรือน และพร้อมให้ถ่ายรูปเสมอ ข้าพเจ้าเดินสำรวจไปรอบๆบ้าน ก่อนจะขึ้นไปด้านบนและทักทายคุณยาย คุณยายเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังถึงคุณปู่ที่เป็นผู้สร้าง และออกแบบบ้านหลังนี้ และต่อมาได้มีการต่อยุ้งฉางเพิ่มอีก เพื่อการใช้งาน
นอกจากนั้นท่านยังเล่าเรื่องอื่นๆให้ฟัง ไม่ว่าจะมีคนจากหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ คนในวังมาเยี่ยมชม หรือแม้กระทั่งรายการของพี่หนูแหม่มที่มาถ่ายทำที่นี่ แต่สิ่งที่คุณยายดูจะปลื้มเป็นที่สุดคือ พี่หนูแหม่มยังคงโทรศัพท์มาหา ถามสารทุกข์สุขดิบ

เมื่อเล่าถึงครอบครัว คุณยายดูเหงาเล็กน้อย เพราะน้องสาว ไปเรียนต่อที่อื่นหมด คนทำความสะอาดบ้านก็เป็นเพียงลูกจ้าง ไม่ใช่ญาติสนิทมิตรสหาย

เมื่อไปถึงเป็นเวลาค่อนข้างเย็นทำให้แสงเหลือไม่มากนัก ข้าพเจ้าจึงถ่ายรูปได้ไม่มากเท่าที่ควร และถึงถ่ายไปก็ไม่สวยเท่าที่ตาเห็น
ข้าพเจ้าจึงเดินสำรวจไปทั่ว สังเกตเห็นประตูบานเลื่อนบานใหญ่ที่ประตูครัว ซึ่งเหมือนบ้านสมัยใหม่ที่นิยมทำในรูปแบบโมเดิร์น

ก่อนจะจากกัน คุณยายก็พูดอย่างน่ารัก และดูเหงาๆว่า พรุ่งนี้จะมาอีกมั๊ย….
ข้าพเจ้าไม่กล้ารับปากเนื่องจากข้าพเจ้ารู้ดีว่า ข้าพเจ้าจะไม่ได้กลับมา คุณยายจึงบอกว่าให้ส่งจดหมายมาหากัน ส่งรูปที่ถ่ายด้วยกันมาให้ดูด้วยก็ได้ หลังจากอัดรูปแล้ว ข้าพเจ้าส่งให้คุณยาย

ที่อยู่ 48 บ้านมะกอก ม.4 ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
อาหารค่ำมื้อนี้ อาจารย์จิ๋วพาไปทานอาหารพื้นเมือง ทั้ง แกงฮังเล น้ำพริกหนุ่ม แหนม ผักลวกจิ้มน้ำพริกอ่อง อร่อยมาก

อิ่มหนำสำราญ หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน ได้เวลานอนของเด็กๆแล้ว…..

________________________________________________________________________

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2552

วันนี้ที่แรกคือ พระวิหารหอคำหลวง

วัดนี้มีการใช้ใบตองตรึงมาทำเป็นหลังคาศาลา
ด้านข้าง มีธงปักอยู่ในไม้ไผ่สาน ดูเข้ากับศาลาได้อย่างน่าแปลกใจ และทำให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย

โรงแรม ยูเชียงใหม่
โรงแรมที่มีสัดส่วนของด้านหน้าสวยงามเข้ากับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสมัยใหม่เข้าด้วยกัน

ระหว่างทาง ข้าพเจ้าและอาจารย์ได้เข้ามาแวะ Chocolate Factory

(ชอคโกแลตอร่อยจริงๆ ข้าพเจ้าการันตี)

วัดทุ่งอ้อ

เป็นวัดที่เหลือเชื่อมาก ที่อาจารย์สามารถหาเจอได้ เนื่องจาก ถ้าขับรถผ่านมาด้วยตัวเองแล้ว ไม่อาจทราบได้เลยว่าจะมีวัดอยู่ในนี้ เมื่อเข้าไปก็เจอวัดขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ทว่าองค์ประกอบกลับดู oversize และลานกว้างด้านหลัง (หรือด้านหน้า? ข้าพเจ้านับทางที่ตัวเองเข้าเป็นด้านหน้า แต่ดูเหมือนจะเป็นด้านหลังของวัด)

ส่วนด้านหลังวัดของข้าพเจ้า(หรือด้านหน้าจริงๆของวัด) ก็เต็มไปด้วยป่าไม้ยืนต้น

มื้อเที่ยงไปกินข้าวซอยฟ้าอ่าม
ชื่อร้านเป็นข้าวซอย แต่ข้าพเจ้าสั่ง ขนมจีนน้ำเงี้ยว(ที่ไม่เคยลองชิมของจริง)

กลับขึ้นรถ !!

วัดอินทราวาส(ต้นเกว๋น) อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ต้นเกว๋น เป็นชื่อของต้นไม้ล้านนาชนิดหนึ่ง ที่มีในบริเวณวัด ลานทรายกว้าง ตัดขอบคมกริบกับหญ้าเป็นจุดเด่นแรกที่มองเห็นเมื่อเดินเข้ามาภายในพื้นที่วัด หน้าจั่วมีลวดลายสวยงาม
วัดนี้ได้รางวัล อาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วกว่า 6 ครั้ง รวมถึงกรมศิลปากรก็มีการทำการบุรณะให้ด้วย
เมื่อเข้าไปข้างใน อาจารย์จิ๋วก็ให้สังเกต เสปซ ที่มองจากข้างนอกเข้าไป กับข้างในออกมา
เมื่อมองจากข้างนอกเข้าไป เสปซจะดูลื่นไหล ค่อยๆเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ติดขัด

แต่พอเข้าไปด้านในแล้วมองออกมา จะเริ่มรู้สึกว่า เสปซมีการแบ่งไว้อย่างชัดเจน ด้วยตัวเพดานที่ลดหลั่นลงมา ถูกตัดด้วยแสง และเงาที่เกิดขึ้น ทำให้แบ่งเสปซด้านในไว้ถึง สาม ที่ด้วยกัน ออกจะอธิบายยาก ต้องเขาไปดูให้เห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ

ขณะเดินผ่าน ก็ไปเจอบ้านที่มีฟาสาดเท่สุดๆ อาจารย์น้ำบอกว่า ครั้งก่อนที่มาทริปก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

โรงแรมราชมังคลา

โรงแรมที่มิกซ์ความสมัยใหม่ และเก่าเข้าด้วยกัน ทั้งล้านนา ไทย และจีนด้วย

หน้าต่างบางส่วน ได้มาจาก วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(พระบรมธาตุดอนเต้า) อ.เมือง จ.ลำปาง และนำมาดัดแปลงให้เข้ากับโรงแรม

ร้านอาหารที่มีกลิ่นอายของความเป็นจีน ด้วยโคมไฟ บรรยากาศไฟสีสลัวๆ ถึงจะไม่ได้ทานอาหารที่นี่ แต่ก็พอเดาได้ว่ารสชาติอาหารคงไม่ทำให้ผิดหวัง

ด้านบนของลอบบี้ มีพิพิธพัณขนาดย่อม แต่ไม่สามารถถ่ายรูปออกมาได้

ร้านอาหารยอดแย่ ในไนท์บาซ่า

มีผู้ชายยืนเรียกแขกอยู่หน้าร้าน เห็นเพื่อนกลุ่มแรกเข้าไปนั่งกินก่อนก็เลยเข้าไปตาม แล้วจู่ๆเพ่อนที่มาสมทบก็บอกว่า ร้านข้างๆบอกให้ระวังเรื่องราคา ก็ไม่คิดว่าจะอะไรมาก ตอนสั่งก็ดูราคากันตลอด

แต่พออาหารมาเท่านั้น ข้าวหมูแดง จานละ 60 บาท มีหมูขนาดย่อม 4 ชิ้น วางกระจุก ราดน้ำมาแบบรีบเร่ง แตงกวาหั่นเน่าๆ ขิงดองแปะมาข้างๆ ผักชีโรยหน้าแบบไม่ใส่ใจ ……….และจานอื่นๆที่ไม่อยากอธิบาย
ขอเอาหน้าผู้ชาย และร้านคนนี้มาแปะให้คนอื่นได้เห็น เผื่อจะได้ไม่ต้องเป็นเหยื่อรายต่อไป


สภาพหน้าร้านที่เหมือนจะขายทุกอย่างที่จะโกยเงินได้ (คนที่เรียกแขกหน้าร้านเป็นผู้ชายบอกว่า ที่นี่เจ้าของร้านทำเองทุกจาน แต่พอเดินเข้าไปดูเข้าใจว่า เจ้าของร้านคงทำเองจริงๆ ทำทิ้งไว้เป็นหม้อๆ ใครมาก็ตักราดๆ เย็นๆชืดๆในเวลา 5 นาที พอบอกว่าอะไรยังไม่ทำก็ไม่เอา ก็บอกว่าเสร็จหมดแล้ว แต่ข้างในยังไม่ตักข้าวเลย ตักและทำกันให้เห็นต่อหน้าต่อตา)
บะหมี่เป็ดย่างจานละ 100 บาท

แพงไม่ว่า แต่มันดูไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

เกิดอาการเซ็งเชียงใหม่ไปตามๆกัน
______________________________________________________

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2552

วันนี้พวกเราเริ่มต้นการเดินทางไปยังศูนย์วัฒนธรรม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

นั่งฟังเล็กเชอร์ในเรือนไทลื้อ เพื่อของข้าพเจ้าเดินไปเหยียบเข้ากับไม้ผุ จนแผ่นกระดานหล่นลงไป อันตราย ดีที่เป็นแผลถลอกเล็กน้อย แต่ก็ยังน่ากลัวบาดทะยักเพราะมีตะปูเก่าๆขึ้นสนิม

ศูนย์สาธิตและถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านล้านนา (ร่วมกับ ม.เชียงใหม่)เป็นเรือนทรงปั้นหยา

ขับรถผ่านหมู่ บ้านหาดผาคัน
หลังจากนั้นก็แวะตามหมู่บ้านจนหมดวัน
ที่นี่มีทุ่งนามากมายให้เห็น รวมทั้ควายและชาวนาที่กำลังไถนาอยู่(ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ภาคใต้ไม่ค่อยได้เห็นภาพเช่นนี้)

ในหมู่บ้านมีบ้านพื้นถิ่นแบบต่างๆ ผนังแบบตีไม้ระแนง ฝาแบบจักรสาน

วิถีชาวบ้านที่ยังซักผ้าในลำธาร(ฝาย)

และเหล่าปาปารัชชี่(จริงๆแล้วกำลังถ่ายฝายอีกด้าน) ที่นี่มีฝายเก็บน้ำ ข้าพเจ้าคิดว่าคงเก็บน้ำไว้ใช้กับการทำนา หรือใช้ในหน้าแล้ง

ระหว่างทางข้าพเจ้าได้ผ่านบ้านของคุณปู่ที่ทำไม้ตีแมลงวันขาย อาจารย์น้ำก็นั่งคุยกับคุณปู่ซักครู่และชมว่าบ้านของคุณปู่สวย
หน้าตาของไม้ตีแมลงวันที่นี่แปลกดีทีเดียว เป็นไม้สานกัน แต่ที่ข้าพเจ้าเคยใช้นั้นเป็นพลาสติก

บ้านของคุณปีประณีตมากทีเดียว แค่บันไดก็ดูมั่นคงแข็งแรงมากแล้ว และยังมีการทำลวดลายไว้อย่างสวยงาม

และยังไปเจอบ้านที่มีเสปซด้านในสวยงาม ด้วยการเล่นเสต็ปลดหลั่นกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนนั่งเล่น ชานบ้าน หรือห้องนอน

การใช้ความรู้สึกที่เกิดจากเสาเหลี่ยมและเสากลม ทำให้ ไม่รู้สึกอึดอัด หรือเหมือนกับอยู่ในกรอบ เพราะถ้าเสากลมนีกลายเป็นเสาเหลี่ยม จะทำให้รู้สึกเหมือนเกิดเป็นห้องขึ้นมา และไม่รู้สึกว่า เสปซโฟลว์ไปเหมือนการใช้เสากลม

บ้านที่กำลังจะก้าวเดิน!!

วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง
แต่เมื่อไปถึงเป็นเวลาค่ำมากแล้ว มองไม่เ็ห็นอะไร จึงตกลงกันว่า พรุ่งนี้จะมาใหม่ เวลา ตี 5 !!!
แค่คิดก็ง่วงแล้ว

_____________________________________________________________________________________



Professional Practise II [Field Trip 04-06 Jul 2009]
July 20, 2009, 9:08 pm
Filed under: Uncategorized

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2552
สถานที่แรกที่จอดให้ลงคือ บ้านเขาแก้ว จังหวัดสระบุรี ของอาจารย์ทรงชัย

เมื่อผ่านซุ้มพุ่มไม้และข้ามสะพานเล็กๆ อากาศค่อนข้างร้อนทำให้ต้องหรี่ตาลงสักครู่เพื่อปรับสายตา
ลานกว้าง ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยปลอดภัยจากสัตว์ไม่พึงประสงค์เช่นงู หรือไม่ต้องคอยกำจัดวัชพืชที่รุกล้ำเข้ามาในเขตที่อยู่ รวมทั้งยังใช้เป็นลานเอนกประสงค์ จัดงานเลี้ยงต่างๆ หรือตากเสื้อผ้า


เรือนไม้ที่อยู่เรียงราย สีไม้เก่าคลาคล่ำแต่ดูมีเสน่ห์ จากคำบอกเล่าของอาจารย์ ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่า บ้านเรือนที่ตั้งอยู่เหล่านี้ ได้มีการยกย้ายมาถึง 3 รอบ อายุกว่าร้อยปีแล้ว เรือนใหญ่จำนวน 6 หลังที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ๆแทรกสอดด้วยความงามของธรรมชาติ ไม้ว่าจะเป็นไม้ดอกส่งกลิ่นหอม ไม้ประดับ หรือกระทั่งไม้ผลที่ใช้รับประทานได้

แต่ที่มากกว่านั้นคือ เหล่าไม้ดอกไม้ประดับเหล่านี้ ไม่เพียงมีไว้เพื่อความสวยงาม แต่ยังเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้านที่มีมานานนม เช่น มาลี โมกแก้ว ลำเจียก รวมไปถึงการใช้พืชพรรณเหล่านี้ดำรงชีวิตเช่น สมุนไพรต่างๆ และพืชผักสวนครัว
คำที่อาจารย์จิ๋วและอาจารย์ทรงชัยมักจะเน้นย้ำเสมอคือ การเป็นคนไทยนั้น มีสิ่งดีงามไม่ด้อยไปกว่าชาวตะวันตก ต่างชาติ วัฒนธรรม ภาษาที่มีคู่คนไทยมานานแสดงถึงอารยธรรมอันเก่าแก่ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ทั้งธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนลานด้านหน้าที่ไม่ปลูกหญ้าแต่ปล่อยให้เป็นพื้นดิน

แต่ปัจจุบัน กำลังทำให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไปโดยไม่รู้ตัว อุตสาหกรรมการผลิตทำให้เกิดของใหม่ๆ ชาวบ้านต่างหันมาสนใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ และระบบทุนนิยม ไม่สานต่อความรู้เดิมๆ อาจเป็นเพราะรู้สึกเสียเวลา หรืออาจเป็นผลผลิตใหม่ๆดีกว่าภูมิปัญญาเดิมๆก็เป็นได้ ดังนั้น โรงงานสมัยใหม่จึงควรมีการทำวิจัยผลิตสิ่งที่มีความเป็นพื้นเมืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานกันเข้า เพื่อไม่ให้ลืมของเก่า แต่ก็ยังรับสิ่งใหม่ๆเข้าไปผสาน

ขณะที่ข้าพเจ้ายืนฟังอาจารย์ทั้งสองท่าน กลิ่นไม้ดอกลอยมาแตะจมูก กลิ่นหอมเย็นๆ ทำให้ช่วยคลายความรู้สึกร้อนจากอากาศได้บ้าง นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำไมเราจึงควรมีธรรมชาติอยู่รายล้อมไม่ห่างก็เป็นได้

หลังจากที่เดินถ่ายรูปจนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นเรือนกลางน้ำ ข้ามสะพานที่ไม่ว่าใครก็ต้องหยุดถ่ายรูปแล้ว ข้าพเจ้าก็เดินออกจากบ้านเขาแก้ว และข้ามถนนไปยัง หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน ไม่ใช่ ไทย-วน)

บรรยากาศพื้นเมือง เพลงบรรเลงให้อารมณ์ภาคเหนือคลออยู่เบาๆ หลังจากเดินตากแดดแล้ว ได้มาดื่มน้ำอัญชัญสีม่วงๆใส่น้ำแข็ง ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในกรุงเทพในแก้วที่มีลักษณะเป็นขัน ก็ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้บ้าง
เมื่อเดินลงไปข้าพเจ้าจึงได้เห็นเรือนแพอยู่ในแม่น้ำ มีพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนและทานอาหาร บรรยากาศคงดีไม่น้อยถ้าได้มาทานขันโตกที่นี่ และรู้เอาทีหลังว่า ที่นี่เค้ามีไว้จัดงานขันโตกจริงๆด้วย (Space บ่งบอก??)

เมื่อทานอาหารเสร็จ อาจารย์ทรงชัยก็มีการแสดงเล็กๆน้อยๆจากน้องที่เรียนอยู่ที่นี่ ไล่จากน้องๆที่อายุน้อยๆ จนค่อยๆเพิ่มขึ้น และการแสดงที่ดูน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ

อีกทั้งยังมีการลงไปรำบนเรือนแพให้ได้ชมอีกด้วย

หลังจบการแสดงหลายชุดของเด็กๆ ก็ได้เวลาที่ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมการเดินทางครั้งนี้ต้องย้ายถิ่นอีกครั้ง และตราบใดที่สุรียายังไม่อัสดง ก็ยังไม่จบการเดินทางของแต่ละวัน……(เรียกว่าใช้แสงธรรมชาติได้คุ้มจริงๆ)
อารัญญิก เมืองกำแพงเพชร
วัดป่าอรัญวาศรี ที่ถูกทิ้งร้างกว่าร้อยปี ภายหลังจึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ จะเห็นได้ว่าทั้งฐานและกำแพงต่างๆถูกสร้างด้วยศิลาแลง มีทั้งการฉาบปูนเรียบ การสร้างเสาเรียวสูง คาดว่าสมัยก่อนมีหลังคาแต่ภายหลังเสื่อมสภาพตามกาลเวลาจึงเหลือให้ข้าพเจ้าได้เห็นเพียงแค่นี้

โบราณสถานวัดพระนอน

มีฐานศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุด มีการจัดสวนและเล่นระดับรั้วโดยรอย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Sense of Landscape มีทั้งพุ่มไม้สูงเตี้ย ไม้เลื้อยต่างๆ เหมือนสวนแบบอังกฤษ ได้อารมณ์จากการมองสิ่งปรักหักพัง โบราณสถานได้รวมเข้ากับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ความนุ่มนวลที่เกิดจากการเวลาที่ทำให้พืชพรรณ มอส เฟิร์นต่างๆมาเกาะบนสิ่งปลูกสร้าง ดูมีชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่กระด้างเหมือนการทาสีอย่างจงใจ
เจดีย์ประธาน โบราณสถานวัดพระนอน มีลักษณะเป็นระฆังกลม ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งส่วนยอดพังทลายไปแล้ว เมื่อข้าพเจ้าเดินเข้าไปจึงพบเห็นป้ายที่เขียนว่า ค้ำยันที่รัดชั่วคราวนั้น เพียงเพื่อรองบประมาณดำเนินการบูรณะ ห้ามเข้าเนื่องจากบางบริเวณมีรอยแตกร้าว และอาจหลุดพังลงมาได้ ข้าพเจ้าหัวเราะขื่นเล็กน้อยและชี้ให้เพื่อนดู….โบราณสถานที่กำลังเสียไป เพราะต้องรองบประมาณที่ยังไม่มาถึงเสียที หรือจะรอให้พังไปมากกว่านี้จึงจะจัดงบประมาณมาได้

เมื่อถ่ายภาพเจดีย์วัดพระนอนเป็นที่เรียบร้อย ดวงอาทิตย์ก็ค่อยๆลับขอบฟ้า เข้าสู่เวลากลางคืน ทำให้การถ่ายรูปของข้าพเจ้าเป็นไปค่อนข้างยากลำบาก แต่เมื่อเงยหน้ามองขึ้นท้องฟ้าจะเห็นดวงจันทร์ที่เกือบเต็มดวง และเมื่อข้าพเจ้ามองตรงไปก็เห็นแสไฟเป็นจุดเล็กๆที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ

โบราณสถานวัดพระสี่อริยาบถ
เทียนที่จุดสว่างไสวจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยว เนื่องจากวันนี้มีการจัดการเวียนเทียน(ก่อนวันจริง) ทำให้วัดดูมีชีวิตชีวา และรู้สึกได้ว่า เวลาที่ทำให้สภาพของวัดเสื่อมลง ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำให้ผู้คนศรัทธาเลย เสียงสวดของพระและผู้คนที่เดินตามดังไปรอบๆในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังถ่ายภาพของ พระสี่อิริยาบถ
พระพุทธรูปางลีลา (เดิน) รูปปางไสยาสน์ (นอน) ปางมารวิชัย(นั่ง) และปางประทานอภัย (ยืน) ซึ่งยังมีสภาพที่สมบูรณ์กว่าด้านอื่นๆ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นความงามแบบอุดมคติ แขนแบบงวงช้าง จีวรปลิวไสว ท่าทางคล้ายจะย่างก้าว และมีความงามของการเวลาที่มีTexture ตามผิวเนื้อ

เมื่อเดินสำรวจจนทั่วแล้ว ก็ได้เวลากลับไปยังที่พัก ทุกคนต่างกลับขึ้นรถด้วยความสนุกสนานระคนเหนื่อย แต่ทว่าสิ่งได้เห็นในวันนี้ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้น และประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของอดีตที่ยังหลงเหลือมายังปัจจุบัน หรือความงามในอดีตที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสูงส่ง แต่ก็มิอาจทำได้เช่นสมัยก่อน…………

——————————————————————————
วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2552

ฝนตก คือสิ่งแรกที่เจอหลังจากออกมาจากห้องนอนและเตรียมจะออกไปทริปในวันนี้ !! เมื่อมาเมืองเหนือ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ ข้าวซอย ร้านข้างๆโรงแรมก็คือ ร้าน โอมาห์… อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่เคยได้ลองทานดูซักครั้ง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่า ข้าวซอยของที่นี่อร่อยมาก และข้าพเจ้าก็ทานที่นี่สองวันเลยทีเดียว
วันนี้ค่อนข้างจะทุลักทุเล เพราะฝนที่ตกลงมาไม่ยอมหยุด ทำให้แต่ละคนต้องเอาหมวกมาสวม เอาร่มมากางบ้าง ไหนจะต้องระวังกล้องเปียก และระวังลื่นอีก ทำเอาวุ่นวายอยู่ไม่น้อย

วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินแก้วช้างยืน) จ.ลำปาง

สถานที่แรกที่จอดในวันที่สองของทริปนี้คือ วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินแก้วช้างยืน) เป็นวัดที่มีศิลปะแบบล้านนา มีลวดลายงดงามทั้งหลัง โดยเฉพาะหน้าบัน ที่ซุ้มประตูมีการก่อนอิฐถือปูน เป็นรูปปั้นสัตว์แบบล้านนา กล่าวกันว่า เป็นศิลปะเหมือนซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง

สิ่งที่สำคัญหลักๆคือ เจดีย์ วิหารล้อมวัด ลานทราย เพื่อที่พระจะได้ไม่ต้องคอยกำจัดวัชพืช และลานทรายนี่เองที่ทำให้เป็นที่มาของประเพณีขนทรายเข้าวัด อาจารย์เล่าว่า สมัยก่อนเมื่อวัดยังเป็นศูนย์กลาง บ้านจะไปทำนา หรือไปที่ต่างๆก็จะต้องมาผ่านวัด และเมื่อมีการเดินเท้าเปล่าย่ำผ่าน ทรายก็จะติดเท้าออกไปทีละเล็กละน้อย ทำให้ต้องมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อชดเชย ทรายที่เคยเหยียบออกไป (และที่นี่เองที่ข้าพเจ้าได้ถอดรองเท้าและย่ำพื้นทรายเปียกๆในวัด เมื่อยังเดินอยู่ในลานทรายก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อเหยียบลงมาบนพื้นปูน ถึงได้รู้สึกว่า ทรายมันทิ่มแทงจนสะบัดแทบไม่ทัน)

ภาพพระเจดีย์

ความแตกต่างที่เห็นได้ของสถาปัตยกรรมสมัยเก่าและปัจจุบันก็คือ วัดในสมัยก่อนนั้น จะไม่เนี้ยบ สวยคม ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนในสมัยปัจจุบัน แต่ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป มีตะไคร่ ไลเคน หรือมอสขึ้น กลับทำให้วัดสมัยก่อนดูมีเสน่ห์มากกว่า แต่ถ้าเป็นวัดที่มีความประณีต บรรจงเหมือนในปัจจุบัน จะทำให้ดูสกปรก ด่างพร้อยมากกว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าคนในสมัยก่อนได้คิดถึงเรื่องนี้อย่างตั้งใจ หรือเป็นเพียงความบังเอิญ แต่นั่นจึงทำให้ สถาปัตยกรรมโบราณสถานต่างๆ ยังคงเป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนที่ได้มาเห็นเนื่องจากเป็นสิ่งที่ มนุษย์ในเวลาปัจจุบันไม่สามารถสร้างได้

วัดไหล่หินแก้วช้างยืนนี้มีขนาดเล็ก มีการเชื่อมโยงความร่มรื่นของต้นโพธิ์ด้านหน้าวัด และตัวอาคารวัดด้วยลานทราย

สิงห์ที่ยืนอยู่ด้านหน้านั้น มีขนาดไม่เท่าที่อื่น ทำให้เกิดความลวงตาถ้าเคยเห็นตัวสิงห์จากที่อื่นๆแล้วมาเห็นที่นี่ อาจะทำให้รู้สึกว่าวัดใหญ่กว่าความเป็นจริงเหมือนที่อาจารย์เจ็งเห็นชั่วขณะหนึ่งในครั้งแรกที่เห็น แต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเนื่องจากที่นี่เป็นวัดแรกที่ข้าพเจ้าเห็นสิงห์ลักษณะนี้

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

ในขณะที่ข้าพเจ้าได้ไปวัดพระธาตุในครั้งนี้ก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเจดีย์ครั้งใหญ่ โดยจำมีการซ่อมแซมส่วนยอดที่ชำรุดและปิดทองคำเปลวใหม่ ส่วนกำแพงแก้วชั้นนอก-ใน จะมีการฉาบปูนทับ และกะเทาะบางส่วนออกก่อนจะทำการฉาบใหม่ นอกจากนั้นยังมีการ บูรณะซุ้มประตู แท่นฐานพระพุทธรูป สัปทน และตุงกระด้าง(เสาฉัตร)

แต่เดิมนั้นวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นมีธรรมชาติ ลาน ต้นโพธิ์ เชื่อกับท้องนาโล่งๆภายนอก โดยใช้พญานาคเป็นตัวเชื่อม Space ไม่มีการตกแต่งวิจิตร โดยเฉพาะวิหารคด แต่เล่นการปิดล้อมของ Space และการนำสายตา

หอสรงน้ำพระแก้วมรกต

ข้าพเจ้าเดินย้อนกลับมาดูเนื่องจากครั้งแรกที่เดินเข้าไปนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นทางแยกที่จะเดินไปยังหอสรงน้ำนี้ หอสรงน้ำมีรางน้ำไว้ให้คนรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ ประดับด้วยก่ออิฐ มีโครงสร้างเหมือนอาคารใหญ่แต่ตัวอาคารมีขนาดเล็ก ผนังเป็นทั้งตัวรับน้ำหนัก และตกแต่งในเวลาเดียวกัน ปรับขนาดและวิธีการจากโครงสร้างใหญ่เข้าสู่โครงสร้างขนาดเล็กได้อย่างดี แต่สภาพโดยรอบของหอสรงน้ำนี้ มีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นโครงทรัสสมัยใหม่ที่ดูไม่เข้ากันกับหอสรงน้ำนี้เลย

ข้าพเจ้าคิดว่าอีกไม่ช้า หอสรงน้ำนี้คงโดนรื้อถอนออกไปอย่างแน่นอน ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ ที่ได้ถ่ายรูปนี้ เพราะอีกไม่นาน รูปนี้คงเป็นหนึ่งในอีกหลายๆรูปที่คนรุ่นต่อไปจะหาถ่ายไม่ได้อีก

วัดปงยางคก(วัดปงจ๊างนบ)

ที่มาของชื่อปงยางคก คือ สมัยที่พระแม่เจ้าจามเทวีจะเดินทางนำฉัตรไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างที่ขี่ม้าก็หยุดเดิน และหมอบลง อยู่ ณ ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน และไม่ยอมไป จึงได้ตั้งวิหาร และสร้างกู่จ๊างนบไว้ (จ๊าง คือช้าง นบ คือการที่ช้างทำความเคารพ)

วิหารพระแม่เจ้าจามเทวี(ขวา)


พื้นหินที่สังเกตได้ เป็นการนำมาใส่ทีหลัง โดยไม่ได้คิดถึงการใช้งาน เพราะเมื่อเดินเท้าเปล่าแล้วจะทำให้เจ็บเท้า คนทำไม่ได้ใช้ ก่อให้เกิดปัญหาแบบนี้เป็นตัวอย่าง

หลังจากนั้นก็แวะชมบ้านท้องถิ่นที่อยู่ข้างทางไปเรื่อยๆ เจอหลังไหนที่อาจารย์จิ๋วสนใจก็แวะจอด แห่กันลงจากรถ แล้วล้อมบ้านหลังนั้นไว้อย่างกับหน่วย SWAT. ล้อมผู้ร้ายไว้ยังไงยังงั้น….ดูเหมือนคุณลุงเจ้าของบ้านเองก็ไม่พอใจ แต่เมื่อได้ยินเสียงแซวหลังจากที่แกเปิดหน้าต่างบ้านว่า แหมปกติไม่เคยเปิดหน้าต่างเลยนะ ข้าพเจ้าจึงทึกทักเอาเองว่า คุณลุง(หรือคุณปู่)คงดีใจที่มีคนมาถ่ายรูปบ้านของตัวเองอยู่เหมือนกัน

แวะไปเรื่อยๆก็ได้เจอบ้านที่มีคนแก่อายุราวๆแปดสิบกว่า บ้านหลังนั้นมีสวนสวยงาม ต้นไม้ที่เขียวชอุ่ม รวมทั้งมีลานดินแต่เฉอะแฉะเพราะฝน แต่ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ต้องลาดปูน ทำถนน แค่วางก้อนกรวดลงไปเป็นทางเดิน ก็ทำให้เดินได้ง่ายไม่ลื่นแล้ว

เมื่อจะกลับ ก็ได้รวมเงินกันให้กับพ่อเฒ่าแม่แก่ของบ้านหลังนั้น และก็ได้พรมาด้วย(ข้าพเจ้าเห็น มีการหาดอกไม้ และหลายๆอย่างมาเตรียมก็งงว่าทำอะไร เพื่อนที่ยืนข้างๆบอกว่า เป็นการรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ เนื่องจากที่บ้านของข้าพเจ้าเป็นคนจีน ข้าพเจ้าจึงไม่เคยรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่อย่างเป็นพิธีการซักครั้ง ถือเป็นอีกประสบการณ์ใหม่ของข้าพเจ้าเลยทีเดียว)

——————————————————————————

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2552
วันนี้เริ่มทริปด้วยการแวะตามบ้านพื้นถิ่นข้างๆทางไปเรื่อยๆเช่นเดิม ระหว่างทางข้าพเจ้าเห็นลำไยออกผลดกเต็มต้นตลอดทาง

วันนี้ฝนยังคงตกอยู่ทำให้การถ่ายภาพค่อนข้างจะลำบากเพราะกลัวกล้องเปียกเลนส์เสียอีกเช่นเคย
เมื่อรถบัสจอด คราวนี้จะเป็นการไล่เดินดูบ้านตามหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่หลังเดียวแต่ทั้งหมด ซึ่งหมู่บ้านนี้มีการทำนาเสียมาก รวมทั้งมีการนำล้อยางมาแปรรูป

ร้านโชว์ห่วยที่ขายของหายากในเมืองหลวง ทำให้นึกถึงวัยเด็กที่เคยซื้อของเล่น และขนมหน้าโรงเรียนอนุบาล มีตั้งแต่หมวก อะไหล่ จนไปถึงผัก!!

เดินมาเรื่อยๆ ในแต่ละที่ของหมู่บ้านจะมีการเขียนชื่อของสมาชิกในบ้านแต่ละบ้านไว้ด้วย

ผลไม้(หรือไม่ใช่ผลไม้?)ที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน

ข้าพเจ้าเดินเข้าไปตามซอยที่เพื่อนข้าพเจ้าโทรมาบอก เข้าไปลึกเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้เจอกับนาขั้นบันได ทีแรกไม่คิดว่าจะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ แต่เมื่อได้เดินมาดูเต็มๆตาก็ถึงกับทึ่ง เพราะนาที่นี่ สวยจริงๆ!!

โดยไม่รอช้า ข้าพเจ้าและเพื่อนก็ต่างเดินลงไปในนาเพื่อเก็บภาพเหล่านี้ไว้ เนื่องจากฝนตก ทำให้ดินค่อนข้างลื่น ทำเอาบางคนลื่นหกล้มกางเกงเปื้อนโคลนกันไปตามสมัยนิยม(?)
อยากเป็นชาวนากันใหญ่


พี่ชาวนาที่กำลังมาเก็บเกี่ยวจริงๆ

หุ่นไล่กา (ฮา)

หลังจากเดินเล่นในนา ถ่ายภาพไว้มากจนเกินควร ข้าพเจ้าและเพื่อก็ต้องเดินกลับไปที่รถแล้ว ระหว่างทาง ข้าพเจ้าเจอบ้านสายเลือดไทยเต็มเปี่ยมด้วยสีธงชาติที่อยู่บนหลังคาทำให้บ้านหลังนี้ดูเด่นในทางแปลกๆอยู่ไม่น้อย

บ้านที่ใช้เสาจากต้นไม้ และยังคงรูปร่างนั้นให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนถือเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ตามเมืองใหญ่


ครั้นเวลาเที่ยงได้เวลาอาหาร ท้องหิวไส้กิ่วกัน ข้าพเจ้าและเพื่อนๆก็ได้มาแวะรับประทานอาหารเที่ยงกันที่วัด ซึ่งเจ้าอาวาสวัดนี้นี่เองที่จะพาพวกเราไปดูบ้านเก่าๆแก่ๆของท้องถิ่นนี้

บ้านหลังที่เข้าไปดู มีสวนสวยงาม ปลูกไว้เป็นหย่อมๆ แต่รอบๆบ้าน มีทั้งรั้วไม้ที่มีต้นไม้เลื้อย รางระบายน้ำที่ทำด้วยกรขุดดินไหลไปรดน้ำต้นไม้แต่ละแปลงด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ต้องใช้สปริงเกอร์ให้เปลืองไฟ หรือต่อสายยางให้วุ่นวาย

ใต้ถุนบ้านนั่งสบายๆ มองดูสวนที่ปลูกไว้ พื้นดินบางส่วนที่ไม่มีคนเดินผ่านถูกมอสปกคลุม

ด้านหลังข้างนอกเป็นพื้นที่ทำครัวเพื่อไม่ให้ควันเข้าข้างในบ้าน

ระหว่างทางเดินผ่านไม้ผลหลายชนิดเช่น เงาะ ลำไย กล้วย แก้วมังกร ซึ่งนอกจากให้ร่มเงาแล้วยังให้ผลที่ทานได้ ถ้าเหลือก็นำไปขายได้อีก เป็นการอยู่แบบพอเพียง


ทุ่งนาที่อยู่ด้านนอกเป็นแนวยาว เพื่อนๆของข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะลงไปเดินย่ำกันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะโดนเรียกตัวกลับกันไม่ทัน เพราะต้องไปดูบ้านหลังต่อไป
รั้วไม้ไผ่ฝีมือชาวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันการสร้างอาคารสมัยใหม่ก็นิยมนำไปทำเป็นส่วนหนึ่งของอาคารด้วยเช่นกัน

หลายสิ่งหลายอย่างที่ข้าพเจ้าสังเกตได้ว่า ไอเดียหลายๆอย่างก็เริ่มต้นที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปสานต่อได้มากมาย

และในวันนี้ ข้าพเจ้าก็ได้เห็นเรือนเครื่องผูกของจริง!! ยิ่งได้มองใกล้ๆ รายละเอียดต่างๆดูแล้วกโยิ่งน่าทึ่ง เพราะเป็นการสร้างงบ้านที่ไม่ต้องใช้ตะปูตอกเลย และใช้วัสดุธรรมชาติล้วนๆ

วัดข่วงกอม (เมืองปาน จ.ลำปาง)

ที่วัดนี้ได้มีการสร้างกุฏิเพิ่มโดยการร่วมมือกับสถาปนิก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า กุฏิที่นี่ดูคล้ายกับรีสอร์ทสมัยใหม่ ที่มักมีกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่นรวมกับวัสดุสมัยใหม่

เมื่อเดินทะลุวัดเข้าไปภายในจะมีหมู่บ้านของชาวบ้านอยู่ มีทั้งคอกหมู ที่มีลูกหมูวิ่งออกมาเป็นขบวนด้วยท่าทางน่ารักน่าชังน่าอุ้ม (ข้าพเจ้ากดถ่ายภาพไปมากกว่าถ่ายอย่างอื่นเสียอีก)

ยิ่งเดินเข้าไปอีก ก็ไปเจอกับโซนโคลน !! ก่อนจะไปถึงท้องนา
ค่อนข้างจะต้องลุยกันทีเดียว เพราะขั้นแรกต้องถอดรองเท้าและย่ำโคลนเละๆ ที่โดนย่ำจนหาทางเดินไม่ได้..

หลังจากที่ข้าพเจ้าผ่านด่านทรหดอดทน ทางโคลนที่มีความชันแล้ว เสียงเป่านกหวีดหมดเวลาก็ดังขึ้น เมื่ออาจารย์บอกว่า กลับได้แล้ว จะมืดแล้ว…ข้าพเจ้าจึงลุยโคลนฟรี..

________________________________________________________



Professional Practice II [intro Field Trip List]
July 19, 2009, 9:46 pm
Filed under: Uncategorized

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2552

บ้านเขาแก้ว
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน
โบราณสถานวัดพระนอน
โบราณสถานวัดพระสี่อริยาบถ

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2552


วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินแก้วช้างยืน)


วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดปงยางคก(วัดปงจ๊างนบ)

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2552
ไปตามหมู่บ้าน


วัดข่วงกอม (เมืองปาน จ.ลำปาง)

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552


วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อ.เมือง จ.ลำปาง


วัดสุชาดาราม


วัดปงสนุก


วัดศรีรองเมือง(วัดท่าคราวน้อยพะม่า)

บ้านยองโบราณ บ้านอนุรักษ์ดีเด่น จ.ลำพูน

วันพุธที่ 8กรกฎาคม 2552

null
พระวิหารหอคำหลวง


ไปโรงแรม ยูเชียงใหม่


วัดทุ่งอ้อ


วัดอินทราวาส(ต้นเกว๋น) อ.หางดง จ.เชียงใหม่

วันพฤหัสที่ 9 กรกฎาคม 2552


ศูนย์วัฒนธรรม

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552

สนามบินสุโขทัย

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์ตาสังคโลก สุโขทัย


วัดเจดีย์เก้ายอด

มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร

ศูนย์บริการข้อมูล


วัดเจดีย์เจ็ดแถว


วัดช้างล้อม

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552


วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง


วัดกุฎีราย

วัดมหาธาตุ


วัดศรีสวาย


วัดพระพายหลวง


วัดศรีชุม

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2552



วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


วัดราชบูรณะ



Professional Practise I
June 14, 2009, 6:31 pm
Filed under: Uncategorized

ไม่ว่าจะด้วยสายเลือด หรือเชิ้อชาติพันธุ์ หรือเพราะดราก้อนบอลที่เคยดูเมื่อสมัยอนุบาล ทำให้ข้าพเจ้าชอบที่จะขีดเขียน วาดภาพตามหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า หรือแม้แต่เขียนลงบนปกในของหนังสือที่เป็นหน้าว่างจนโดนดุอยู่บ่อยๆ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยที่จะเลิกวาดภาพเลย ภาพวาดต่างๆที่เคยภูมิใจนักหนา กลับทำให้ข้าพเจ้ายิ้มขัน เมื่อมองดูอดีตที่เคยสร้างไว้บนปกในของหนังสือเล่มต่างๆ จากงานอดิเรก ที่ขีดเขียน
ข้าพเจ้าค่อยๆจริงจังขึ้นเมื่อได้เรียนศิลปะอย่างจริงจัง และข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าหลงรักการวาดภาพ ขีดเขียนนี้เข้าเต็มๆเสียแล้ว แต่ความคิดที่จะเรียน สถาปัตยกรรมศาสตร์ นั้น ไม่เคยอยู่ในวังวนชีวิตของข้าพเจ้าเลยแม้แต่น้อย

จนกระทั่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างแดนถึงแสกนดิเนเวีย ประเทศหนาวเหน็บอันไกลโพ้น ข้าพเจ้าได้รู็้้จักกับรุ่นพี่ซึ่งกำลังศึกษาในคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลนีพระจอมเกล้าธนบุรี ‘เรียนคณะนี้ได้มาเมืองนอกด้วย’ คือความคิดอันแสนสั้นกุดของข้าพเจ้าที่แวบเข้ามาในสมองอันน้อยนิด แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสนใจในวิชา สถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นมา

หลังจากที่กลับมายังถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนอากาศร้อนจนขวนหงุดหงิด ข้าพเจ้าเริ่มเข้าเรียนพื้นฐานการวาดเส้น จากความคิดที่ไร้หลักลอย ข้าพจึงเริ่มสนใจวิชาชีพนี้ขึ้นมาจริงๆเสียแล้ว การทำอะไรที่รัก ทำให้มีความสุข และมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ข้าพเจ้าเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และข้าพยิ่งภูมิใจขึ้นเมื่อได้รับโจทย์ยากๆ และสามารถอดทนทำมันจนสำเร็จลุล่วงไปได้
แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า ความอดทนนั้น ช่างน้อยนิด เมื่อเทียบกับสิ่งที่จำต้องพบเจอ

หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็มุ่งเรียนการวาดเส้น ทั้งเหมือนจริง การวาดภาพทัศนียภาพ และภาพไอโซเมตริกที่เกิดมาเพิ่งจะเคยได้ยิน ยิ่งข้าพเจ้าได้ยินว่า อาชีพสถาปนิกนั้นมีรายได้ที่สูง ก็ยิ่งเกิดแรงผลักดันให้เข้าเรียนวิชานี้ยิ่งขึ้น อย่าว่าข้าพเจ้าเห็นแก่เงินเลย เพียงเพราะข้าพเจ้าอยากเรียนให้จบตามความหวังของพ่อแม่ และมีรายได้ดีๆเพื่อจะเลี้ยงพ่อแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงแม้การเรียนจะทำให้ข้าพเจ้าต้องห่างจากครอบครัว แต่ทางบ้านนั้นก็สนับสนุน และยินดีที่จะส่งเสริมข้าพเจ้าในทุกๆทาง ไม่ว่าจะเรียนพิเศษ สนับสนุนอุปกรณ์ราคาแพงทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจนักว่าทำไมจึงได้มากมายมหาศาลเช่นนั้น ข้าพเจ้ายังไม่รุ้เลยว่า สิ่งที่พ่อแม่ของข้าพเจ้าลงทุนให้กับข้าพเจ้ามากขนาดนี้ จะทดแทนได้หมดหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจ คอยดูแล และผลักดันข้าพเจ้าอยู่เสมอๆ

และในที่สุด ทางเลือกเส้นใหญ่ที่สุดของชีวิตเด็กมัธยมปลาย ณ ประเทศไทย ที่กำลังสับสนวุ่นวายอลหม่าน ราวกับมดแตกรัง
ด้วยเหตุผลทั้งปวง ก็ทำให้ข้าพเจ้าเลือกเส้นทางที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง
ทำไมไม่เข้าจุฬา? คำถามที่สองรองจาก เข้าคณะอะไร ที่คอยถามข้าพเจ้าซ้ำๆ ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าข้าพจ้าเป็นคนหัวแข็ง ยิ่งยุก็เหมือนยิ่งทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากทำตาม ข้าพเจ้าจึงเลือก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นอันดับแรกในทันที บางที นั่นอาจเป็นเพราะ ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่า..ลาดกระบังมันบ้านนอกเช่นนี้นี่เอง หาดใหญ่ยังออกจะเจริญกว่าเลย และอาจารย์ผู้ปูทางด้านพื้นฐานวาดเส้นที่ข้าพเจ้าเคยเข้าคอร์สติวเข้มมานั้น เคยเรียน ณ สถาบันแห่งนี้มาก่อน และเขาทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า “เท่มาก” (แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นว่า ที่นี่จะแย่ตรงไหน และใช่ว่า จุฬาจะไม่ดี เพราะพี่สาวข้าพเจ้าเองก็เรียน สน.อยู่ที่นั่น งานก็พอๆกัน)

ใช่แล้ว ข้าพเจ้าเข้ามาในคณะนี้ด้วยเหตุผลคล้ายๆกันกับคนทั่วไป ข้าพเจ้าหลงรักในสิ่งที่ข้าพเจ้าวาดฝันไว้ ข้าพเจ้าเคยตกหลุมรักคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อใครๆก็ต่างถามข้าพเจ้าว่า ทำไมถึงเลือกเรียนวิชานี้?
แต่เมื่อได้ศึกษา และใช้ชีวิตกับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่ารัก ข้าพเจ้าก็อกหัก เมื่อได้รู้ว่า …”มันไม่ใช่” แบบที่คิดไว้

การวาดรูป วาดเขียน กับ วิชา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ดูเหมือนจะมีเส้นคาบเกี่ยวกัน แต่ในความเหมือนนั้น กลับมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง สถาปัตยกรรมศาสตร์ ไม่ได้เรียนวาดรูป เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจ ทำไมไม่รู้มาก่อน??? เพิ่งรู้ว่า มันมี กฎหมาย เพิ่งรู้ว่า มันมี human scale เพิ่งรู้ว่า มันมี โครงสร้างที่ต้องเรียน เพิ่งรู้ว่า มันมี visual design วิชาเดียวข้าพเจ้ารู้จักและคาดหวังไว้ คือ วิชา Delineation….ที่มีเรียนแค่เทอมเดียว! และวิชาที่พอจะใช้ความรู้จากสมัยมัธยม เช่นวิชา สถิติ ฟิสิกส์ หรือ ภาษาอังกฤษ
ข้าพเจ้าแทบอยากโขกหัวตัวเองกับโต๊ะดราฟท์ ก่อนเรียนทำไมไม่ดูก่อนว่าเค้าเรียนอะไรกัน…

ความรู้สึกนั้น ก็มาถาโถมอีกครั้งเมื่อข้าพเจ้าย่างก้าวเข้าสู่ชีวิตแห่ง การอกหักปีที่ 2 งานหนักจนแทบไม่ได้กระดิก ไม่เคยพบเคยเจอ และไม่เข้าใจว่า จะเยอะขนาดนี้ไปทำไม กลัวจะว่างหรืออย่างไร ความเครียด ความกระตือรือร้น ดิ้นรน เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแทบไม่เคยประสบในชีวิตก่อนหน้านี้ 18 ปี
ไหนจะโดนล้มแบบ และโดนคำบ่นว่าติวิจารณ์ ต่างๆนานา ที่ข้าพเจ้าเกิดมาเพิ่งจะรู้ว่า มีการบ่น ดุ ด่า ว่า กล่าวกันอย่างจริงใจเช่นนี้มาก่อนในโลก บางครั้งก็ยิ่งกว่าข้าพเจ้าไปฆ่าลูกใครที่ไหนเข้า นั่นเป็นความรู้สึกในตอนนั้นจริงๆ หลายครั้งที่ข้าพเจ้าร้องไห้และถามตัวเองว่า ทำไมข้าพเจ้าต้องมาทำอะไรเช่นนี้…

….มันช่างเป็นอาการอกหักที่ยาวนานจริงๆ…อย่างน้อย ก็อีก 3 ปี

ข้าพเจ้ายังลองพยายามที่จะอกหักรักคุดต่อในปีที่ 3 เผื่อว่า อาจจะเปลี่ยนใจมาสมหวังในรักก็ได้ และแล้ว ความมานะบากบั่นก็เกิดผล อาจเพราะความเกียจคร้านเป็นทุนเดิม ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผ่อนคลาย เมื่องานลดลง และมีเวลาว่างให้กับชีวิตมากขึ้น เมื่อรู้สึกว่า เดินมาได้ครึ่งทาง ก็ดูมีแรงผลักดันให้ข้าพเจ้าก้าวต่อไปโดยไม่ลังเล และทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า บางที ข้าพเจ้าอาจจะกลับมาสมหวังในรักเช่นเดิม

ความฝันลมๆแล้งๆถูกพัดปลิวเมื่องานจำนวนมหาศาล ความละเอียด ความเข้าใจถึงแก่นแท้ในแต่ละวิชา ไหนจะทั้งยาก เยอะ จนข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า สมองมนุษย์สามารถจดจำสิ่งเหล่านี้และเรียนรู้ทั้งหมดได้อย่างไร และข้าพเจ้าผ่านมาได้อย่างไร แต่ในที่สุด ข้าพเจ้าก็ผ่านมาแล้ว จนถึงที่นี้ ข้าพเจ้าได้แรงใจจากบุคคลรอบข้าง ทั้งอาจารย์บางท่าน และครอบครัว
หลายครั้งที่ข้าพเจ้าทำให้ครอบครัวเป็นกังวลจากความกดดันของตัวข้าพเจ้าเอง หลายครั้งที่ข้าพเจ้าเคยโทรศัพท์กลับไปแต่พูดอะไรไม่ออก เมื่อได้ยินเสียงของคุณพ่อหรือคุณแม่ ข้าพเจ้ากลับร้องไห้ออกมาจนตัวเองยังประหลาดใจ
ข้าพเจ้าอาจอ่อนแอ แต่เพราะมีครอบครัวที่คอยให้กำลังใจข้าพเจ้ามาตลอด ข้าพเจ้าจึงยิ่งรู้สึกว่า ข้าพเจ้าต้องอดทน และสู้ เพื่อพวกเขา และเพื่อตัวข้าพเจ้าเอง
ข้าพเจ้าเลือกที่จะกลับไปฝึกที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัว ที่ปีหนึ่งจะเจอซักครั้งสองครั้ง การทำงานจริงทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จึกสังคมแบบใหม่ การเข้ากับคนอื่น และการทำงานร่วมกับคนอื่น
ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าได้พบเจอกับคนทำงานดีๆ หรือวงการนี้จะเป็นเช่นนี้เสมอ ข้าพเจ้ารู้สึกดีที่ได้ทำงานจริงที่นี่ พี่ๆที่ทำงานที่ให้งาน และคอยเอางานใหม่ๆมาให้ดู รวมทั้งการสอนสิ่งต่างๆเพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถทำงานให้ได้อย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าได้รู้วิธีการทำงานหลายๆอย่าง รวมทั้งการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานจริง และปัญหาที่พวกเขาเคยพบเจอ แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกไปทำงานด้วยตนเอง

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาชีพนี้ ข้าพเจ้าจะยังคงเดินอยู่ในเส้นทางอาชีพนี้ หรืออาจจะคาบเกี่ยวอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าแน่ใจคือ วิชาชีพนี้ได้สอนข้าพเจ้าว่า ชีวิตไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุกลาบเสมอไป ทุกอย่าง ไม่ได้เป็นตามที่เราต้องการ และเราต้องอดทน ยอมรับ และความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

แต่….ข้าพเจ้ารู้สึกโล่งอกทุกครั้ง หลังจากการ จูรี่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะข้าพเจ้า ได้ทำลงไปอย่างเต็มที่ ณ เวลานั้นแล้ว

ไม่แน่อีกสิบปี ข้าพเจ้ากลับมาเปิดดูงานของข้าพเจ้า ณ เวลานี้ ข้าพเจ้าอาจจะยิ้มขันในผลงานที่ทำอย่างภาคภูมิใจ เหมือนกับที่ ข้าพเจ้าเคยยิ้มให้กับภาพวาดหน้าตาบูดเบี้ยวบนปกหนังสือเล่มเก่า ที่กระดาษกลายเป็นสีเหลืองผุๆ

….หรือแม้แต่บางเล่ม ที่โดนปลวกแทะไปเสียแล้ว….. …. .

15062009

 



Hello world!
June 14, 2009, 5:36 pm
Filed under: Uncategorized

Welcome to WordPress.com. This is your first post. Edit or delete it and start blogging!